หั่นเป้าจีดีพีปีนี้ 1% “พึ่งตนเอง” ฝ่าพายุเศรษฐกิจ 

19 พ.ค. 2565 | 05:45 น.

บทบรรณาธิการ

     เป็นไปตามคาด เลขาธิการสภาพัฒน์แถลงปรับลดตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี 2565 ลง 1% จากเดิม 3.5-4.5% (ค่ากลาง 4 %)  เหลือ 2.5-3.5% (ค่ากลาง 3%) เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่เดิมคาดจะขยายตัวได้ที่ 4.5% ลดลงเหลือ 3.5% โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจากเดิม 72-82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มเป็น 95-105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

 

     ขณะที่จีดีพีไทย ไตรมาส 1/2565 ขยายตัวที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 แม้ยังวิตกกังวลและเฝ้าระวังการระบาดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดรวดเร็วทั่วโลก และเผชิญข้อจำกัดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 

     โดยในระยะถัดไปการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ จะมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน การแซงชั่น ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ส่งผลกดดันตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

 

     สำหรับเศรษฐกิจไทยมีทั้งข่าวดีและร้าย ปัจจัยหนุน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การคลายมาตรการคุมโควิด-19 ภาคเศรษฐกิจเริ่มขยับ 2.คนมีงานทำ รายได้ครัวเรือนและธุรกิจ กลับมาดีขึ้น อัตราการว่างงานลดเหลือ 1.53%  3.เปิดเมืองเปิดประเทศการท่องเที่ยวฟื้น คาดทัวริสต์นอกเข้าไทยเพิ่มจาก 5 เป็น 7 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มจาก 4.7 เป็น 5.7 แสนล้านบาท และ 4.การส่งออกสินค้าไทยยังประคองขยายตัวต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก 

     ขณะที่ปัจจัยลบ 4 เรื่องหลัก คือ 1.ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อยืดเยื้อ กระทบราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ ฉุดเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะถัดไป 2.เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากนโยยายซีโรโควิด กระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก 3.หนี้เอกชนและหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูง ถ่วงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายใน และ 4.เชื้อโควิด-19 แม้จะคลี่คลายลงแต่ยังไม่อาจวางใจการระบาดซ้ำโดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่

 

     เลขาธิการสภาพัฒน์ชี้ด้วยว่า 3 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 คือ 1. การส่งออก ที่ต้องทำตลาดต่อเนื่อง 2.การท่องเที่ยว ที่ต้องดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาให้มากขึ้น และ 3.การบริโภคภายในประเทศ  ที่ต้องดูแลเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะที่ในช่วงถัดไป เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพราะจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้วัตถุดิบบางตัวและราคาพลังงานสูงขึ้น

 

     เศรษฐกิจไทยแม้ขยายตัวแต่ยังเปราะบาง ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่ปกติ คาดการณ์ยาก และมีข้อจำกัด โดยเงินจากพ.ร.ก.กู้ฯ เวลานี้มีวงเงินเหลือใช้ได้จริงอีกเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท ไปถึงภายใน 30 ก.ย.2565 ที่ยังมีความไม่แน่นอนระหว่างทาง มาตรการช่วยเหลือจากรัฐจึงต้องใช้อย่างตรงเป้า มีประสิทธิภาพ

 

     เรียกได้ว่าต้องละเอียด ระวังทุกจุด ประคองทุกเครื่องยนต์ไม่ให้สะดุด ให้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปให้ได้โดยสวัสดิภาพ เพื่อเศรษฐกิจไทยพร้อมจะพุ่งทะยานได้ในอนาคต