Dow เดินหน้า Net Zero ชูวัสดุ “โพลีสไตรีน” ดาวเด่น ลดคาร์บอน 5 ล้านตันต่อปี

14 พ.ค. 2565 | 05:00 น.

กลุ่มบริษัท ดาว หนุนผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้โพลีสไตรีน แทน ABS ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและของเล่นเด็ก ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืน นำอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท Dow มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 หรือ ลดลง 15% จากฐานปี 2563 และมีเป้าหมายจะเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2593

 

อีกทั้งตั้งเป้านำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลขั้นต่ำ 1 ล้านตันภายในปี 2573 รวมถึงส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ให้สมบูรณ์โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพ็คเกจจิ้งจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ 100 % ภายในปี 2578

 

โดยสินค้าและโครงการต่าง ๆ ของ Dow จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบริษัทฯ ตั้งใจที่จะใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง อีกทั้งยังจะช่วยให้ลูกค้าของ Dow ได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน

 

การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้หมายดังกล่าว บริษัทได้มีการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดธุรกิจโพลีสไตรีนของ Dow ได้มีการนำเม็ดพลาสติก High Impact Polystyrene (HIPS) ซึ่งเป็นโพลีสไตรีนที่เหมาะสำหรับใช้ในงานที่ต้องรับแรงกระแทก มีน้ำหนักเบา ดูดซับความชื้นต่ำ มีอุณหภูมิการใช้งานที่ต่ำกว่า จึงสามารถประหยัดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และมีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่า รวมทั้งสามารถรีไซเคิลได้ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) ในการผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ วิทยุ เฟอร์นิเจอร์ และของเด็กเล่น

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 Dow สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนโดยการเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตได้ถึง 22,978 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 68,779 ไร่ต่อปี

 

 

Dow เดินหน้า Net Zero ชูวัสดุ “โพลีสไตรีน” ดาวเด่น ลดคาร์บอน 5 ล้านตันต่อปี

 

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเทศและโลกจะยั่งยืนได้ ย่อมต้องมีการบริโภคและธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อน และนวัตกรรม คือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ในปีนี้ Dow ครบรอบ 125 ปี ในการก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่มุ่งมั่นในการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งานและด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด

 

Dow มีความยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

“Dow เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีสไตรีนคุณภาพสูงรายใหญ่ของประเทศไทย กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตโดยทั่วไป นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและคุณสมบัติที่โดดเด่นหลากหลายประการ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เดียวกันในตลาด อาทิ มีความโดดเด่นในด้านความเงา สามารถทนต่อสารเคมีได้ดี จึงตอบโจทย์การนำไปใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม สามารถใช้ทดแทนวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าได้ในหลายอุตสาหกรรม”

 

นายอนุรักษ์ รัศมีอมรวิวัฒน์ Technical Service and Development & Climate Change กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรพิจารณาการปรับเปลี่ยนวัสดุในการผลิตโดยใช้วัสดุที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องความยั่งยืนและช่วยให้องค์กรและประเทศก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ยังเป็นจุดขายและโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ

 

Dow เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกพัฒนาและผลิตวัสดุชนิดต่าง ๆ มีความหลากหลาย กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ พลาสติกชนิดต่าง ๆ เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม สารเคลือบผิว และซิลิโคน ซึ่งเน้นสร้างความแตกต่างเพื่อตอบโจทย์ในตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์และการขนส่ง และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

 

ปัจจุบัน Dow มีฐานการผลิต 104 แห่งใน 31 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 35,700 คน โดยมียอดขายในปี 2564 ประมาณ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วยบริษัทที่ Dow เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และกลุ่มบริษัทร่วมทุน SCG-Dow เป็นฐานการผลิตที่ใหญี่ที่สุดของ Dow ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก