กฎหมายประกันสังคมใหม่ นายจ้างไม่ยื่นแบบเงินสมทบเจอโทษปรับหนัก-ติดคุก

12 พ.ค. 2565 | 05:47 น.

เปิดกฎหมายประกันสังคมใหม่ เพิ่มโทษอาญานายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายการส่งเงินสมทบ แสดงการส่งเงินสมทบปลอม เจอโทษหนักทั้งปรับและจำคุก หลังจากกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดรายละเอียด

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมีติเห็นชอบร่างกฎหมายประกันสังคมใหม่ โดยนอกจากการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ แล้ว ตามกฎหมายฉบับใหม่ยังมีการแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง ดังนี้

  1. กำหนดให้นายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลา หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานขอให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในกำหนดเวลา หรือไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เดิม กำหนดให้นายจ้างที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบรายงานหรือไม่แจ้งเป็นหนังสือมีความผิด)
  2. กำหนดให้นายจ้างผู้ใดยื่นแบบรายการ หรือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ซึ่งเปิดทางให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ประกอบด้วย

 

1.การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) ดังนี้ 

  • กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) 
  • กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) 
  • กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้) 

2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ดังนี้ 

  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจาก 50% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง 
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละ 50% ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วันหรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน