ครม.เคาะแก้กฎหมายประกันสังคม เลือกบำเหน็จ บำนาญชราภาพ ยืมใช้ก่อน ค้ำกู้ได้

10 พ.ค. 2565 | 07:11 น.

ที่ประชุมครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ และนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน โดยปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในหลายประเด็น 

 

ทั้งนี้ตามกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร และกรณีทุพลภาพ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

 

พร้อมทั้งยังสามารถนำเงินในกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน เช่น

  • ขอที่ 1 ขอเลือก เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบคนบตามเงื่อนไขของการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว
  • ขอที่ 2 ขอกู้ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้
  • ขอที่ 3 ขอคืน เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิขอนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนก่อนอายุครบกำหนดได้

ขณะเดียวกันยังแก้ไขเพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของลูกจ้าง ซึ่งมิใช่ผู้ได้รับหรือเคยรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

รวมทั้งการปรับปรุงอายุของผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากเดิมกำหนด 60 ปีบริบูรณ์เป็น 55 ปีบริบูรณ์ และการขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างจากเดิม 60 ปีเป็น 65 ปี

 

“การดำเนินการครั้งนี้เสนอมาเป็นพรบ. ที่ผ่านการเห็นชอบจากครม.ไปแล้ว ซึ่งจะช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างเช่นการกู้เงินนอกระบบ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยสูง วิธีนี้จะเข้าไปช่วยได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม. ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่นี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) 

 

รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น  อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จาก 50% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65 ปีบริบูรณ์ มีรายละเอียดดังนี้

 

1.การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืนและขอกู้) ดังนี้

  • กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)
  • กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)
  • กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้) 

 

2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ดังนี้

  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจาก 50% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง  
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละ 50% ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วันหรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน 

 

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถ เลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติมโดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุนแต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนขอเลือกขอคืนและขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว 

 

"การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมสร้างหลักประกันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย" โฆษกรัฐบาล กล่าว

 

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม