ครม. ขยายเวลาเอกชนบริจาคช่วยโควิด ลดหย่อนภาษีได้ถึงสิ้น ธ.ค.2566

26 เม.ย. 2565 | 09:06 น.

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขยายเวลาเอกชนบริจาคช่วยโควิด ทั้งเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสรรพากร นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึงสิ้นธ.ค.66

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร

 

หลังจากมาตรการเดิมได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ดังนั้นที่ประชุมครม. จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

สำหรับการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาค แยกเป็น

  1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงิน สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกิน 20% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ
  3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 

 

ทั้งนี้ในขั้นตอนการดำเนินงาน ครม.ได้เห็นชอบให้ออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการบริจาค สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร คาดว่า จำทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการในครั้งที่ผ่านมารัฐบาล ยอมรับว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมีดังนี้

  • เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน
  • มีส่วนช่วยรักษา ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชน ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19
  • สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 และทำให้เกิดพลังสามัคคีในประเทศ
  • จะช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19