ด่วน ครม.เคาะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 100-250 บาท 6 เดือน

26 เม.ย. 2565 | 06:56 น.

ที่ประชุมครม.ไฟเขียวการเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เดือนละ 100-250 บาทต่อคน โดยจะให้เป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบการเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 100-250 บาทต่อคน โดยจะให้เป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565

 

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งว่า การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีกลุ่มผู้สูงอายุได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคน รวมวงเงินในการช่วยเหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท 

“ในเดือนเมษายนนี้ ผู้สูงอายุ 10 ล้าน จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับอยู่เดิมแล้วบวกกับเงินช่วยเหลือพิเศษโอนตรงเข้าบัญชี จำนวนตั้งแต่ 700 – 1,250 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นความห่วงใยที่รัฐบาลต้องดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ หลังได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากเจอผลกระทบจากการทำงาน เงินจากลูกหลาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญดูแลทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครั้งใหม่ ตามมติครม. เบื้องต้น มีดังนี้

  • อายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 บาท เพิ่มเติม 100 บาท เป็น 700 บาท
  • อายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 700 บาท เพิ่มเติม 150 บาท เป็น 850 บาท
  • อายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพจำนวน 800 บาท เพิ่มเติม 200 บาท เป็น 1,000 บาท
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพจำนวน 1,000 บาท เพิ่มเติม 250 บาท เป็น 1,250 บาท

 

การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามมติครม. 26 เมษายน 2565

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,896,444 ล้านคน วงเงินรวม 8,348.16 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565 

 

ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้คิดเป็น 50.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงานตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีสัดส่วนลดลงจาก 40% เหลือเพียง 22%  

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุต่อไป 

 

ส่วนกรณีผู้สูงอายุที่ถูกระงับสิทธิ เนื่องจากได้รับสวัสดิการอื่นซ้ำซ้อนจากรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรับเพิ่มด้วย โดยจะได้รับเมื่อมีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)