รฟท.ฟ้องกรมที่ดิน เลี่ยงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ บุกรุกที่ดินเขากระโดง

12 เม.ย. 2565 | 07:14 น.

รฟท.เดินหน้าฟ้องศาลปกครองต่อ เหตุกรมที่ดินเมินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ปมบุกรุกที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ พบผู้ถือครองกว่า 900 ราย เตรียมเรียกค่าเสียหายที่ดิน คาดสูญรายได้700 ล้านบาท

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กรณีที่รฟท.ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง เนื้อที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ รวมทั้งกรณีกรมที่ดิน ไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เพื่อคืนที่ดินให้กับรฟท. ตามระยะเวลาที่ได้มีการกำหนดนั้น เบื้องต้นศาลปกครองกลางได้รับฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยหลังจากนี้จะอยู่ในขั้นตอนของการไต่สวน ซึ่งทางศาลปกครองจะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าทำการไต่สวนตามกระบวนการของศาล คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 5 ปี เพื่อนำเอาที่ดินของรฟท.ทั้ง 5,083 ไร่กลับมาและสร้างประโยชน์และผลตอบแทนเข้ารฟท.แน่นอน ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครอง หากคำพิพากษาออกมาอย่างไร ทางรฟท.ก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฯ

 

 

 “ที่ผ่านมารฟท.ไม่ได้มีการหารือกับกรมที่ดินถึงกรณีที่ขับไล่ผู้บุกรุกที่ถือครองเอกสารสิทธิ์ออกจากพื้นที่ เนื่องจากรฟท.เป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่กระทบต่อสิทธิของเรา เราไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เพียงแต่เราแจ้งผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับเรา ซึ่งกรมที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการ หากร่วมกันหารือทั้ง 2 ฝ่ายอาจเป็นการสมยอมระหว่างกันได้ ส่วนการพิจารณาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่กรมที่ดินต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเรายืนยันที่จะนำพื้นที่ดินบริเวณเขากระโดงกลับมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับรฟท.”

 

 

ส่วนกรณีที่นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความ ได้เข้าร้องเรียนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ นายศักดิ์สยาม รวมทั้งพล.อ.อนุพงษ์ ว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตในประเด็นเรื่องที่ดินเขากระโดงหรือไม่ เนื่องจากกรมที่ดินควรดำเนินการเพิกถอนสิทธิ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ ส่วน รมว.คมนาคม ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ เพราะมีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณนั้น

“จากกรณีที่เกิดขึ้น รฟท.ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ได้นิ่งเฉย ต่อกรณีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง โดยเฉพาะเรื่องการครอบครองที่ของรฟท. กว่า 5,083 ไร่ และนำที่ดินดังกล่าว กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับรฟท. ในการดำเนินการดังกล่าว รฟท.ได้ยึดหลัก กฎหมาย ธรรมาภิบาล และจริยธรรม จึงไม่สามารถดำเนินการกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดิน ที่ออกทับซ้อนที่ดินของรฟท.ในข้อหาบุกรุกได้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดินจนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเอกสารดังกล่าวออกโดยไม่ชอบ”

 

 

 นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า จากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อีสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และมีมติให้ รฟท.พิจารณาดำเนินการผู้บุกรุกที่ดินของรฟท.ต่อไป นั้น ตามมติที่ให้รฟท.ดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าวจะกระทำได้เมื่อกรมที่ดินได้ดำเนินการตามมติในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน หลังจากนั้นรฟท.จึงสามารถดำเนินนิคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินต่อไปได้

 

 

ทั้งนี้จากคำพิพากษาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2561 ในทำนองเดียวกัน ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 และเส้นทางรถไฟที่เข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ซึ่งเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาอุบลราชธานี และเป็นที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 พิพากษาให้รฟท.ชนะคดีในการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง โดยทั้ง 2 คดีไม่ผูกพันบุคคลภายนอก รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ได้ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ซึ่งจะต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิ เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวให้เห็นว่าโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเอกชนมหาชนไม่ถูกต้องอย่างไร

 

 

 “ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวตามแผนที่ที่ได้ยื่นต่อศาลนั้นเป็นที่ดินของรฟท.ทั้ง 5,083 ไร่ เบื้องต้น รฟท.ได้นำคำตัดสินของศาลฎีกาไปยื่นหนังสือต่อกรมที่ดิน ในกรณีที่พบว่ามีประชาชนถือครองเอกสารสิทธิ์โดยออกในหน่วยงานราชการ จำนวน 900 ราย โดยรฟท.ขอให้กรมที่ดินพิจารณาการออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ โดยใช้อำนาจตามพ.ร.บ.แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินมีหน้าที่ตอบว่าการออกเอกสารสิทธิ์นั้นถูกต้องหรือไม่”

รฟท.ฟ้องกรมที่ดิน เลี่ยงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ บุกรุกที่ดินเขากระโดง

ล่าสุดรฟท.ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดง เมื่อต้นปี 2564 พบว่ามีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการ จำนวน 900 ไร่ แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย มีการครองครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง อื่นๆ (ที่ไม่ปรากฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีก) จำนวน 129 แปลง โดยการสำรวจดังกล่าวไม่ได้มีการเจาะจงสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ 

 

 

นายนิรุฒ  กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จ.บุรีรัมย์ มีการกระจายความเจริญเข้ากระเป๋าเงินกับคนบางกลุ่มไม่ถึงชาวบ้านในชุมชน โดยเฉพาะการขายที่ดินบางแปลงของรฟท.จำนวน 1 ไร่ ที่ศาลมีการพิพากษาแล้วมีการขายเปลี่ยนมือระหว่างกัน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 22 ล้านบาท รวมทั้งสนามกีฬา ควรนำรายได้ส่วนนี้เข้าภาครัฐหรือไม่นั้น ทางรฟท.เห็นว่าหากศาลตัดสินเป็นที่ดินของรฟท. เราจะดำเนินการต่างๆเพื่อนำผลประโยชน์เหล่านั้นกลับมาสู่รฟท. แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการขีดเส้นชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของรฟท.ทำให้รฟท.ไม่มีสิทธิเข้าไปรับรายได้ส่วนนี้ 

 

รฟท.ฟ้องกรมที่ดิน เลี่ยงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ บุกรุกที่ดินเขากระโดง

“รฟท.จะมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมที่ดิน เนื่องจากไม้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ทำให้รฟท.สูญเสียผลประโยชน์จากที่ดินบริเวณเขากระโดงราว 700 ล้านบาท ปัจจุบันรฟท.มีรายได้จากการเช่าที่ดินของรฟท. ราว 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยรฟท.มีแผนที่จะพัฒนารายได้โดยตั้งบริษัทลูก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มบนที่ดินของรฟท.ในอนาคต”