“นิพนธ์”แจงสภาถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงต้องแล้วเสร็จใน 120 วัน

11 พ.ย. 2564 | 09:25 น.

“นิพนธ์”แจงสภาปมที่ดินเขากระโดงกว่า 5 พันไร่ ยันเป็นของ รฟท. ยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกา เผยกรมที่ดินแจ้งให้ รฟท.ทำตามอำนาจหน้าที่ ย้ำ กรมที่ดินไม่ได้ละเลย เพิกถอนโฉนด 120 วัน ต้องเสร็จ นับแต่ 6 ส.ค.64

วันที่ 11 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย( รมว.มท.) ให้ตอบกระทู้ถามของ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดิน กรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญ

 

นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นข้อพิพาทและเรื่องถึงศาล คือ กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่ 842-876/60 และ 8027/61 ถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันคู่กรณี ซึ่งศาลพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎรทั้ง 35 รายที่ฟ้องคดี และให้จำหน่าย ส.ค.1  เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาน อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากสารบบการครอบครองที่ดิน  โดยกรมที่ดินมีหนังสือลับที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 แจ้งให้ รฟท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ส่วนการดำเนินการตามที่ศาลฎีกาคำพิพากษาคดีที่ 8027/61 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2561 ว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ของเลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1977/2564 ลงวันที่ 6 ส.ค. 2564  ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีคำสั่งแก้ไขเนื้อที่ตามระเบียบและกฎหมาย  ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกด้วยความคลาดเคลื่อนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน  ซึ่งก่อนดำเนินการเพิกถอน ต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายได้กำหนดไว้  คือ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน  ขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน รวม 120 วัน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกฎหมาย

                               “นิพนธ์”แจงสภาถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงต้องแล้วเสร็จใน 120 วัน

นายกมลศักดิ์ ถามต่อว่า กรมที่ดินใช้หลักเกณฑ์อะไร ทำไมถึงแยกการพิจารณาออกเป็นหลายส่วน และไม่ใช้เอกสารของคำพิพากษาศาลฎีกามาใช้ประกอบตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 61 ตนเป็นห่วงว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะต้องรีบดำเนินการไม่ใช่ปล่อยปละละเลย และเหตุใดกรมที่ดินถึงแยกส่วนที่ดิน      

 

นายนิพนธ์ ตอบชี้แจงว่า เมื่อมดูแผนที่ พบว่ารอยเขตไม่ได้เป็นแนวเดียวกันยังมีความทับซ้อน กรมที่ดินจึงได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รฟท. เพื่อชี้แจงความคืบหน้า และตกลงกันเมื่อวัน 8 พ.ย. 2564 ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตทั้งหมดของเนื้อที่ 5,083 ไร่ และแต่งตั้งกรรมการอำนวยการเพื่อดำเนินการแก้ปัญหานี้ ประเด็นนี้ กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ตนได้กำชับเป็นหนังสือสั่งการไปยังกรมที่ดินเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

นายกมลศักดิ์ ถามย้ำในคำถามที่ 3 ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะปล่อยให้มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง  ไม่มีมาตรการอื่นที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้องกรมที่ดิน และดูเอกสารที่กรมที่ดินอ้าง คือ รูประวางที่ รฟท.ส่งไป ไม่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วประเด็นระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง ไม่มีมาตรการที่จะไม่ให้เรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลหรือไม่       

 

นายนิพนธ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ดินกว่า 5,083 ไร่ ได้ออกเอกสารสิทธิ์ไปประมาณ 700 กว่าแปลง มีทั้ง น.ส.3 และ น.ส.3 ก. อีกจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นการกระทำที่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น ต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาเขตที่เป็นขอบเขตที่แน่นอน มีพิกัดชัดเจน หากกรมที่ดินทำไปโดยขาดความละเอียดรอบคอบ อาจกระทบสิทธิ์ของบุคคลที่ได้เอกสารสิทธิ์โดยชอบ ดังนั้นก่อนดำเนินการใดๆ ความรอบคอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด       

 

“ขอย้ำเรียนว่า กรมที่ดินไม่ได้ละเลย เมื่อ รฟท.แจ้งมาปี 2564 ท่านจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดในปี 2564 ขอกราบเรียนว่า เรื่องนี้มีปัญหาเป็นอุปสรรค หากไม่ดำเนินการไปตามแผนที่จริง จะมีที่ดินเหลื่อมล้ำได้รับผลกระทบ จึงต้องชี้แนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเสียก่อน  ซึ่ง รฟท.ไม่เคยมานำชี้ ผมก็ไม่อยากให้เห็นความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐ แต่หลักของกรมที่ดินก็คือ เมื่อเป็นที่ดินเป็นของ รฟท. ก็ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ เมื่อเริ่มมีหนังสือส่งมา ก็ถือว่ากระบวนการเริ่มนับหนึ่งแล้ว ขอยืนยันว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจและจะดำเนินการให้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายบัญญัติเอาไว้” นายนิพนธ์ ระบุ