ทวงคืน“ที่ดินเขากระโดง” ยุติธรรมที่ล่าช้า คือ“อยุติธรรม”

18 ก.พ. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

หนามที่ทิ่มแทงใจคนไทยในกรณีการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมีการออกเอกสารสิทธิ์ไปราว 850 แปลง บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่กว่า 5,083 ไร่ ก็โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เจ็บใจกับความยุติธรรมที่ล่าช้าจากการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ “เล่นบทยื้อเกม” ในการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ
 

ในการอภิปรายรัฐบาลเป็นการทั่วไปโดยไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายพิรุธของการทำหน้าที่ของการรถไฟฯ ชนิดที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการทำหน้าที่ของรัฐบาล

 

 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่ดินการรถไฟเมื่อ 20 เม.ย.64 ตามคำสั่งศาลฎีกา ที่ 2205/2564 ไปแล้ว แต่ปรากฏเรื่องพิลึกกึกกือขึ้นมาอีกว่า แม้ศาลฎีกา จะตัดสินไปแล้ว เพราะจำเลยคือกลุ่มประชาชนที่บุกรุกแพ้คดีชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา คดีจึงน่าจะเป็นที่สิ้นสุดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปบังคับคดี 
 


แต่เรื่องกลับตาลปัตร เมื่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้มอบอำนาจให้ นายวีระชัย ถาวร หรือ นายสืบ ประทุมศิริ หรือ นายเรือนชาย หวัดเพ็ชร หรือ การรถไฟฯ ให้ผู้แทนไปฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน ต่อศาลปกครอง เมื่อเดือนธันวาคม 2564 

 

พ.ต.ท.ทวี ระบุว่า อย่างนี้ครับ “การที่ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้ตัดสินใจไปฟ้องศาลปกครอง ต่อกรมที่ดิน ในเรื่องการบุกรุกที่ดิน เมื่อได้อ่านคำฟ้องศาลปกครอง ปรากฏว่า การรถไฟฯ ยืนยันที่ดินที่เป็นโฉนดของการรถไฟฯ มีไม่ถึง 500 แปลง แต่กรมที่ดินบอกว่า มีมากถึง 850 แปลง ถ้าผู้ว่าการการรถไฟฯ เป็นคนธรรมดา จะต้องอยู่ไม่ได้ เพราะนี่เป็นความรับผิดชอบ เป็นสาธารณะสมบัติของของแผ่นดิน กลับบอกว่าตัวเองมีหลักฐานแค่ 497 แปลง แต่กรมที่ดิน บอกมีหลักฐาน 850 แปลง 
 

การที่รัฐบาลชุดนี้ ตัดสินใจเปลี่ยนศาล จากศาลยุติธรรม มาศาลปกครอง คิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องเดิมศาลยุติธรรม ให้ความยุติธรรม ใช้เวลา 3 ปี มีข้อมูลถึง 850 แปลง เราจะได้เอาแผ่นดินกลับคืนมา เพราะการรถไฟฯ บอกราคาที่ดินดังกล่าวประเมินตารางวาละ 15,000 บาท ขณะที่การรถไฟฯ มีหนี้กู้มาปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท ทำไมไปฟ้องศาลปกครอง”


ร้ายไปกว่านั้น พ.ต.ท.ทวี ระบุว่า ผู้ว่าฯ การรถไฟ ไม่กล้าฟ้องเจ้านาย บุญคุณ กับความถูกต้อง ถึงเวลาเลือกความถูกต้อง ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ต้องเลือกประโยชน์ส่วนรวม ที่นายกฯ พูด มาว่า ระบบอุปถัมภ์กับระบบคุณธรรมนั้น ระบบคุณธรรมต้องมาก่อนจึงไม่มีความหมาย..ตรงใจประชาชนจริงๆ


 

เพราะการตัดสินใจฟ้องกรมที่ดิน ของการรถไฟฯ แล้วไปเรียกความเสียหายโดยให้อธิบดีกรมที่ดินจ่ายกว่า 700 ล้านบาท เป็นเงินภาษีของประชาชน
 

ในฐานะที่ผมติดตามเรื่องนี้มาตลอด ขอสรุปปมปัญหา และคำฟ้องให้ทุกท่านได้เห็นภาพ ดังนี้ 
 

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ รฟท. ได้ทำหนังสือ เลขที่รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง เพื่อแก้ไขปัญหาและหาข้อยุติ กรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนกว่า 900 ราย ในที่ดินที่เชื่อว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
 

แต่กรมที่ดิน ได้มีหนังสือถึงการรถไฟฯ ว่า ไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินในพื้นที่เขากระโดงได้ เนื่องจากการรถไฟฯไม่มีแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง พ.ศ.2464   

 


กรมที่ดินบอกว่า การดำเนินการคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 นั้น กรมที่ดิน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการกับที่ดิน น.ส.3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งศาลพิพากษาว่าบางส่วนออกทับที่ดินของการรถไฟตามมาตรา 61 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ
 

ส่วนในกรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งการรถไฟฯแจ้งให้กรมที่ดินตรวจสอบว่า เป็นการออกโฉนดที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น 
 

กรมที่ดินชี้แจงว่า เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่สามารถหาแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 มาประกอบการพิจารณาได้ “จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการสำรวจเสร็จแล้ว และมีการสงวนหวงห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ตามตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์สร้างรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462 กรมที่ดิน จึงไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงได้”


 

กรมที่ดินเสนอแนะการรถไฟฯ ไปว่า  ในกรณีที่การรถไฟฯ ไม่มีแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 โดยกล่าวอ้างว่า ได้ใช้แผนที่แสดงเขตการรถไฟฯดังกล่าว เป็นเอกสารหลักฐานที่ใช้ยื่นต่อศาลในการสู้คดีนั้น 


หากการรถไฟฯ ยืนยันว่า แผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลดังกล่าว เป็นแผนที่ที่มีความถูกต้อง รฟท.สามารถถ่ายทอดแนวเขตลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ ที่กรมที่ดินจัดส่งให้การรถไฟฯ และรับรองความถูกต้องได้เช่นกัน เพื่อที่กรมที่ดิน จะได้จัดส่งระวางแผนที่ดังกล่าวไปให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า ที่ดินแปลงใด ต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งแปลงหรือบางส่วน....
 

“ในกรณีที่ รฟท. ไม่สามารถกำหนดแนวเขตลงในระวางแผนที่ได้นั้น ได้แจ้งให้การรถไฟฯ นำหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 1180 หมู่ที่ 1 ต.ในเมือง ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในส่วนที่เหลือ 4,605 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมครบตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 1180 ดังกล่าว และเมื่อได้แนวเขตที่ดินที่ชัดเจนกรมที่ดินจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป” นี่คือหนังสือของกรมที่ดินที่ดำเนินการตอบโต้กับการรถไฟฯ
 

แต่การรถไฟฯ กลับไม่ดำเนินการตามนั้น ผู้ว่าการรถไฟฯ กลับทำในสิ่งที่ทุกคนมึนตึ้บ ด้วยการฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดิน...ตะแล่ม ตะแล่ม ตะแล่ม
 

ในสำนวนการฟ้องศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีคือ การรถไฟฯ มีความประสงค์ขอให้ศาลปกครองพิพากษาบังคับ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคือ กรมที่ดิน จำเลยที่ 1 อธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ 2  รวม 5 ประเด็น


 

ประเด็นแรก ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 

ประเด็นที่สอง  ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3530 ลงวันที่ 27 กันยายน 2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไท
 

ประเด็นที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีพื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมิชอบตามหนังสือเลขที่ รฟ.1/1911/2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา                
 

ประเด็นที่สี่  ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี  พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง  จังหวัดบุรีรัมย์  ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว  และขับไล่ผู้ครอบครองและถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด        
 

ประเด็นที่ห้า ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินค่าเสียหายรวม 707,638,320 บาท  กับชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,969,860 บาท นับถัดจากวันฟ้อง ไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์   
 

ตะลึงกันมั่ยครับพี่น้องไทย! ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 พิพากษาให้การรถไฟฯชนะคดีในการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุ ว่า “ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟฯ ว่าพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ” 
 

แต่การรถไฟฯ ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดิน การออกโฉนดทับที่รถไฟเขากระโดง 700 ล้านบาท 
 

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า เพราะผู้ว่าการรถไฟฯ ไม่กล้าฟ้องรัฐมนตรีคมนาคม ที่มีบ้านในเขตพื้นที่รถไฟฯ ถือเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม
 

ประชาชนเราๆ ท่านๆ คิดเห็นกันอย่างไรกันบ้าง....เชิญใช้สติ ปัญญา เป็นอาวุธ กันนะครับ ผมมิบังอาจสรุปการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เลยครับ มันเจ็บและจุกถึงลิ้นปี่ครับ!