“พาณิชย์”ค้านอเมริกาเปิดไต่สวน AC เดินหน้าป้องผู้ส่งออกไทยเต็มที่

01 เม.ย. 2565 | 02:56 น.

“พาณิชย์”ค้านอเมริกาเปิดไต่สวน AC เดินหน้าปกป้องผู้ส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์เต็มที่พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ส่งออกไทยเพื่อแก้ต่าง

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของหน่วยงาน แจ้งการเปิดไต่สวน AC สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

เพราะเห็นว่าสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศดังกล่าว เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ที่สหรัฐฯ ใช้บังคับกับสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจากจีนนั้น

โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้รับทราบการยื่นคำขอของผู้ผลิตสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ คือ บริษัท Auxin Solar Inc. เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดไต่สวน AC สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศดังกล่าว ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งผู้ส่งออกไทยให้ทราบโดยทันทีและได้มีการประสานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 กรมฯ ได้มีหนังสือถึง Ms. Marisa Lago, Under Secretary of Commerce for International Trade กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยื่นคัดค้านการเปิดไต่สวนดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยมีกระบวนการผลิตที่มีการแปรสภาพอย่างเพียงพอ มิใช่กระบวนการผลิตเพียงเล็กน้อย จึงไม่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD ที่สหรัฐฯ ใช้บังคับกับสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์จากจีน

พร้อมเรียกร้องให้ยกเว้นสินค้าดังกล่าวที่ส่งออกจากไทยออกจากขอบเขตการไต่สวน และต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีหนังสือถึง Ms. Gina M. Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ คัดค้านการเปิดไต่สวนกรณีดังกล่าวอีกฉบับด้วย

ทั้งนี้ตามกระบวนการไต่สวน AC ของสหรัฐฯ เมื่อมีประกาศเปิดไต่สวน AC แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะส่งแบบสอบถาม (Questionnaire) ให้กับผู้ส่งออกไทยเพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงในกระบวนการไต่สวน นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้เสียยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตลอดกระบวนการไต่สวน ซึ่งกรมฯ จะมีการประชุมหารือกับผู้ส่งออกไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ต่างกรณีดังกล่าวต่อไป

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะมีประกาศผลการไต่สวนเบื้องต้นภายใน 150 วัน และจะต้องมีประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดภายใน 300 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศเปิดไต่สวนลงใน Federal Register โดยหากผลการไต่สวนพบว่าผู้ส่งออกรายใดมีการหลบเลี่ยงฯ จริง สหรัฐฯ จะขยายการเรียกเก็บอากร AD/CVD กับผู้ส่งออกรายนั้นที่ส่งสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ ตามอัตราอากร AD/CVD ที่เรียกเก็บจากจีน ดังนั้น เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออก ผู้ส่งออกไทยควรเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนของสหรัฐฯ โดยการให้ข้อมูลตามแบบสอบถามเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำการหลบเลี่ยงฯ ตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ มาตรการ AC คือ มาตรการที่ประเทศผู้นำเข้าใช้ในการตอบโต้ผู้ส่งออกที่มีพฤติการณ์หลบเลี่ยงมาตรการ AD หรือมาตรการ CVD ซึ่งในการกำหนดใช้มาตรการ AC นั้นจะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการยื่นคำขอ การเปิดไต่สวน และการดำเนินกระบวนการไต่สวนตามที่กฎหมายประเทศผู้นำเข้ากำหนด โดยในกรณีที่มีการไต่สวนแล้วพบว่าผู้ส่งออกรายใดมีการหลบเลี่ยงฯ ก็จะขยายการเรียกเก็บอากร AD/CVD ไปยังสินค้าที่ส่งออกจากผู้ผลิตรายดังกล่าว

“ไทยมีการส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 1,069.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.10 ของปริมาณการส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมดของไทย โดยหากผู้ประกอบการรายใดต้องการคำแนะนำเรื่องมาตรการ AC สามารถติดต่อกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด”