สภาเกษตรฯ เตรียมถกพรรคการเมือง กำหนดเข็มทิศภาคเกษตรรับเลือกตั้ง

01 เม.ย. 2565 | 06:45 น.

นับถอยหลัง “ประกันรายได้ 5 สินค้าเกษตร” ปีสุดท้าย จับตารัฐบาลใหม่เลิกหรือสานต่อ “ชาวนา” เชียร์ให้เดินหน้า จากยังไม่มีหลักประกันอื่นที่ดีกว่า “เครือข่าย กยท.” แนะจับมือ “อินโดฯ-มาเลย์” ดันราคายางโลก ประธานสภาเกษตรกร ถกพรรคการเมือง กำหนดเข็มทิศภาคเกษตร รับศึกเลือกตั้ง

ตามที่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรปี 3 (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน) มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 7.8 ล้านราย ใช้เงินเฉพาะจ่ายชดเชยส่วนต่างราคารวมกว่า 1.14 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

 

อัพเดทประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 พืข

 

โดยให้ศึกษาแนวทางการดำเนินการในอนาคตเพื่อให้การดำเนินโครงการสามารถนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงโครงการ/นโยบายต่าง ๆ และเพื่อใช้บริหารจัดการสินค้าเกษตรในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เป็นที่พอใจของเกษตรกรหรือไม่นั้น

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร 5 พืชเกษตรที่ผ่านมามีความพึงพอใจระดับหนึ่ง ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีโครงการฯ อย่างน้อยได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร โดยมีเงินมาช่วยเหลือจุนเจือเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ สิ่งที่สภาเกษตรกรฯอยากเห็นคือ รัฐมีโครงการหรือนโยบายสร้างความยั่งยืนระยะยาว จากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นมาตรการ/นโยบายชั่วคราว

 

 “โครงการประกันรายได้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นปีต่อปีเท่านั้น ยังไม่เห็นมีมาตรการระยะยาว ซึ่งสภาเกษตรกรฯจัดตั้งมา ผ่านนายกรัฐมนตรีมา 4 รัฐบาลแล้ว ตอนนี้กำลังหารือกันว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ เราจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคการเมืองหลักทุกพรรคถึงนโยบายที่เกี่ยวกับเกษตรกร รวมทั้งจะมีเอกสารข้อมูลให้นักการเมืองนำไปพิจารณาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรในระยะยาว”

 

 

ธีรชัย แสนแก้ว

 

ขณะที่ นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย  (กยท.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงราคายางนอกจากเป็นไปตามกลไกตลาดโลกแล้ว แนวทางหนึ่งที่มองว่าน่าจะทำให้ราคายางในประเทศและราคายางส่งออกปรับตัวสูงขึ้นได้ อาจต้องร่วมมือกับ 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) หรือที่รู้ในนามสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ในการวางแผนที่เป็นรูปธรรมร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้งบประมาณแผ่นดินในการอุดหนุนให้น้อยลง

 

“รัฐควรใช้กลไกในการบริหารจัดการ เพื่อลดการเอาเปรียบของพ่อค้าที่มีต่อเกษตรกร เช่น ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้เป็นผู้ค้า ให้เป็นผู้ประกอบการเสียเอง โดย กยท. ควรส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของกลุ่มเกษตรกรได้มากขึ้น ส่วนการดำเนินนโยบายประกันรายได้ ที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุน ปัจจุบันนโยบายแบบนี้ใครก็ทำได้ ขณะนี้ราคายางในตลาดสูงกว่าราคาประกัน คนก็ยังถามหาอยู่เลยว่าทำไมไม่ได้เงินชดเชย ดังนั้นนโยบายแบบนี้ไม่ควรมี ควรที่จะทำให้ได้ราคายางสูงขึ้นจากนโยบายใหม่ ๆ ดูบ้าง ไม่งั้นใครก็บริหารประเทศได้”

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เห็นด้วย อยากให้มีโครงการประกันรายได้ข้าว และสินค้าเกษตรต่อเนื่อง เป็นหนทางที่จะช่วยเหลือชาวนา เพราะเวลานี้ยังไม่มีโครงการอื่นที่จะเป็นหลักประกันให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปากได้ดีกว่านี้

 

มนัส พุทธรัตน์

 

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สมควรที่ยังต้องมีโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ป้องกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถตั้งราคาเองได้

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3770 วันที่ 31 มีนาคม -2 เมษายน 2565