ติวเข้มเอกชนปรับแผนสอง รักษาธรุกิจรอด รับ “วิกฤติยูเครน”บานปลาย

25 มี.ค. 2565 | 08:12 น.

ปัจจุบันโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้า เงินเฟ้อ และค่าครองชีพพุ่งขึ้นทั่วโลก ซึ่งเวลานี้สงครามยังคงยืดเยื้อ บานปลาย และยังประเมินจุดจบไม่ได้

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในหลากหลายแง่มุม ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์ต่อราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออก

 

  • ผวาบานปลายน้ำมันพุ่ง 150 ดอลลาร์

ทั้งนี้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ ณ ปัจจุบันอยู่เหนือระดับ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากสถานการณ์บานปลายราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งถึงบาร์เรลละ 150 ดอลลาร์ และจากที่ไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเกือบ 90% ของการใช้

 

ทั้งนี้เมื่อน้ำมันดิบแพงขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประเมินว่าทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้น 20-25 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเวลานี้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยปรับขึ้นแล้ว 5.0-7.5 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบปลายเดือน ก.พ.2565 กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไม่กล้าหรือลดการจับจ่ายใช้สอย เพราะสินค้าแพง

 

 

ติวเข้มเอกชนปรับแผนสอง รักษาธรุกิจรอด รับ “วิกฤติยูเครน”บานปลาย

 

 

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินทุก 1 บาทที่เพิ่มขึ้นต่อลิตร จะส่งผลต่อจีดีพี 0.1% ขณะที่น้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร จะส่งผลต่อจีดีพี 0.2% หากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อประมาณ 3 เดือน จะกระทบจีดีพี ทั้งปีนี้ลดลงอีก 0.2% จากที่ประมาณการณ์ไว้

 

  • ราคาวัตถุดิบอาหารพุ่ง

 ปัญหาต่อมาของผู้ประกอบการคือ ราคาวัตถุดิบการผลิตอาหารที่ปรับสูงขึ้น โดยวัตถุดิบอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 5% ในหลายกลุ่มวัตถุดิบ เช่น  เนื้อสัตว์ ที่ราคาอาหารสัตว์ และวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น, ผักผลไม้ต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศและปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2564 และยังมีปัญหาเรื่องปุ๋ยที่มีการปรับราคาสูงขึ้น, บรรจุภัณฑ์ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาแผ่นเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรการ AD Tin plate Tin Free ที่ยังเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการ และอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋องโดยตรง

 

ติวเข้มเอกชนปรับแผนสอง รักษาธรุกิจรอด รับ “วิกฤติยูเครน”บานปลาย

 

  • ส่งออกไทย-ค้าโลกสะดุด

นอกจากนี้การส่งออก การขนส่งทางเรือของไทยยังได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากช่วงโควิด-19 ความต้องการการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เรือขาดแคลน จากความต้องการสูง กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก, ค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้นจากระยะทางและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น,การส่งออกสินค้าติดอยู่ที่ท่าเรือในยูเครน รวมถึงที่จะเดินทางไปรัสเซีย, การคว่ำบาตรรัสเซียอาจส่งผลกระทบต่อท่าเรือของทางตะวันตกมีความกังวลในการรับส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย และบางสายเรือมีเงื่อนไขในการส่งสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น

 

รวมถึงสายเดินเรือยังงดรับ booking ในเส้นทางรัสเซีย-ยูเครน และบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าว, ค่า bunker surcharge และ low sulphur surcharge สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน, ตารางเรือมีการเปลี่ยน แปลงและอาจเรียกเก็บค่า war risk surcharge สำหรับสินค้าจำเป็นที่อนุญาตให้ส่งในเส้นทางรัสเซีย ยูเครน, ค่าระวางเรือยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบในการหาสายเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่แพงขึ้น การติดขัดในการส่งเอกสารเพื่อใช้ในการเคลียร์สินค้า ทำให้ต้องมีการชะลอการส่งสินค้าออกไป

 

ติวเข้มเอกชนปรับแผนสอง รักษาธรุกิจรอด รับ “วิกฤติยูเครน”บานปลาย

 

ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ไม่มีเที่ยวบินที่มีต้นทางจากรัสเซียบินมาไทย น่านฟ้าพื้นที่สงครามถูกปิดกั้น ต้องเดินทางระยะไกลขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าตั๋วเดินทางที่เพิ่มขึ้น

 

“นอกจากนี้จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า เพราะในกระบวนการผลิตมีการใช้เครื่องจักร มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้า อาจกระทบต่อต้นทุนและการปรับขึ้นราคาสินค้าได้”

 

  • ติวเข้มรับมือสงครามยื้อ

นายวิศิษฐ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะมาตรการรับมือของภาคเอกชน โดยในส่วนของวิกฤติทางความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจควรติดตามข่าวสารใกล้ชิด ซึ่งจากความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจต้องปรับแผนปรับยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน ทั้งการ ควบคุมต้นทุน การกระจายความเสี่ยง การรัดกุมทางการเงิน และ การลงทุนอย่างรอบคอบมากขึ้น

 

การปรับตัวองค์กรให้ยืดหยุ่นและปรับบริษัทให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ผู้ประกอบการควรสื่อสารกับพนักงานในบริษัท ให้ชัดเจนว่าจะปรับตัวไปในทิศทางไหน และประสานงานกันอย่างรวดเร็ว รวมถึงดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทุ่นแรง เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานได้เร็วขึ้นและเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน

 

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพมากที่สุด เพื่อลดต้นทุน และพยายามให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด การปรับ ปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน มีการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์  มีการนำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้ และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และบำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิ ภาพเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3769 วันที่  27 -30 มีนาคม 2565