ด่วน! กกร.หั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.5 - 4.5% หลังเกิดวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

02 มี.ค. 2565 | 05:44 น.

ด่วน! กกร.หั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.5 - 4.5% หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงยืดเยื้อกว่าคาด ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมร่วมเอกชน 3 สถาบัน (ส.อ.ท. ,สมาคมธนาคารไทย ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มีมติปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 65 ลงเหลือ 2.5 - 4.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ  3.0-4.5% 

 

ส่วนคาดการณ์การส่งออกทั้งปียังคงไว้ที่ 3-5%  ขณะที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-3%  จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5%

 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันมากขึ้น

 

ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก

โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้นมาก เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลงได้ 

 

 

อย่างไรก็ดี กกร.เสนอขอให้ภาครัฐมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการเป็น Focal Point ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าไทยต่อไป

 

กกร.หั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.5 - 4.5%

 

เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อ การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามทิศทางราคาพลังงาน

 

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่าระดับ 3% ได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศและเป็นช่องทางหลักที่ความขัดแย้งรัสเซียยูเครนจะกระทบเศรษฐกิจไทย 

ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

 

ส่วนด้านการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะลดลงจากมาตรการที่จำกัดการเดินทางเช่นการปิดน่านฟ้า แต่กระทบการท่องเที่ยวโดยรวมไม่มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง

 

สอดคล้องกับหลายประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามาก ประกอบกับหลายประเทศในยุโรปก็เริ่มปรับกลยุทธ์ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) 

 

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทางฝั่งเอเชีย รวมถึงไทยกำลังเข้าสู่จุดสูงสุด แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

 

"ภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลที่ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 (วันที่ 5) และปรับเป็นการตรวจด้วย ATK แทน แต่หากมีการยกเลิกมาตรการ Test & GO จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและ นักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่ดีและเป็นแรงหนุนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป"

 

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สืบเนื่องจากจีนมีนโยบาย Zero COVID-19 ทำให้มีการเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าผลไม้จากไทยที่ส่งออกเพื่อไปจีนเป็นอย่างมาก ทั้งการฆ่าเชื้อทุกตู้คอนเทนเนอร์ การตรวจสอบศัตรูพืชกักกัน และการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เวลาการขนส่งจากเดิมใช้เวลาเพียง 3-5 วันเป็น 10 – 15 วันต่อเที่ยว

 

 

อีกทั้งความไม่แน่นอนในการเปิด-ปิดด่าน ทำให้เกิดความแออัดที่ด่านจำนวนมาก เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการส่งออกผลไม้ของไทย ในข่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. ซึ่งหากแก้ไขไม่ทันจะทำให้ราคาสินค้าผลไม้ตกต่ำอย่างมาก กกร.จึงขอเสนอให้เร่งเจรจากับรัฐบาลกลางจีน ให้เปิดด่านสถานีรถไฟบ่อหาน เพื่อรองรับสินค้าผลไม้ไทยให้ทันในเดือนเมษายน 2565 นี้

 

 

และขยายเวลาเปิดด่านเป็น 24 ชม. เพิ่มช่องทาง Green lane ในการตรวจสินค้าผลไม้ รวมถึงขอให้มีการพิจารณาเพิ่มการอนุญาตจำนวนรถบรรทุกให้ผ่านด่านในเส้นทาง R3A   ให้มากขึ้น และขอให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามและผลักดันการเปิดด่านกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง