svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ครม.เคาะมาตรการสงกรานต์ ต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” คุมโควิดครั้งที่17 ถึง 31พ.ค.65

22 มีนาคม 2565

มติที่ประชุมครม.ล่าสุด เห็นขอบมาตรการสงกรานต์ และขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสถานการณ์โควิดถึง 31พ.ค.65

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 ออกไปอีก  2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เสนอ  


โดย เลขาธิการสมช. รายงานต่อครม.ว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 16) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ

 

การดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง สมช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้

 

กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้

  • สถานการณ์ในระดับโลก ยังคงพบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมณี เวียดนาม ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น โดยหลายประเทศได้เน้นไปที่การมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อ และรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
  • สถานการณ์กรระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในประเทศเพื่อนบ้านแนวโน้มสถานการณ์ยังคงน่าห่วงกังวลและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องอันจะเพิ่มความเสี่ยงของการนำพาโรคระบาดมากยิ่งขึ้น
  • สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในประเทศไทย ระลอกเดือนกุมภาพันธ์ 2565-มีนาคม 2565 ปรากฏผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด เพื่อเป็นการทำให้เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับคืนสู่สภาวะปกติ การกลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ อาทิ การทำงาน การเดินทางไปโรงเรียนการพบปะสังสรรค์ และการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคเป็นวงกว้างมากขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วง 1-2 เดือนต่อจากนี้

 

เป็นช่วงที่ต้องมีการบูรณาการประสานการปฏิบัติทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มกำลังเพื่อรักษาขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากในห้วงเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางไปท่องเที่ยวในหลายท้องที่ อาจจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคไปในวงกว้างมากขึ้น

 

จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการบูรณาการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์

ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเฉพาะช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ โดยมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ 

  1. ให้ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการเข้าร่วมงานเทศกาล กิจกรรมตามประเพณีจะต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และให้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากพบว่ามีอาการหรือมีความเสี่ยง ให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK ก่อนเดินทางหรือก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง 
  2. ผู้จัดงานและกิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting การขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด และให้มีมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด              
  3. การกำหนดมาตรการสำหรับกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในพื้นที่สาธารณะโดยห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง หรือปาร์ตี้โฟม ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน และการห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

 

มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

และให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมีความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

 

จากนั้นวันที่ 23 มีนาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับ

โดยฉบับแรก เป็น ประกาศเรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยเนื้อหาระบุว่า

 

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๗) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น

 

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

 

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรี กำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๖๓ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

 

และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

ส่วนฉบับที่ 2 ประกาศเรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยเนื้อหาระบุว่า

 

ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๗) ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

 

นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี