SME D Bank เตรียมสินเชื่อ 2,000 ล้าน หนุน "เบตง" แลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่

16 มี.ค. 2565 | 07:05 น.

ม.ราชภัฏยะลา จับมือ SME D Bank เตรียมสินเชื่อ 2,000 ล้าน ปลุกเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ หนุนโครงการ “เบตงหมื่นล้าน” ขึ้นแท่นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ รองรับการท่องเที่ยว ดัน ศก.ฐานรากโต หวังเกิดเงินหมุนเวียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กว่า 4 หมื่นล้านบาท

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (16 มี.ค. 2565) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเบตง ระหว่าง ดร.ณพพงศ์  ธีระวร  ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และอุตสาหกรรมบริการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank 

 

SME D Bank เตรียมสินเชื่อ 2,000 ล้าน หนุน "เบตง" แลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่

 

สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  ทาง SME D Bank  จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่  เพื่อยกระดับพร้อมรับการเติบโตของการท่องเที่ยว  ทั้งด้านเงินทุนผ่านโครงการสินเชื่อและร่วมลงทุน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท  เช่น “สินเชื่อ SMEs Re-Start”  สำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น  สูงสุดไม่เกิน 2 ปี เป็นต้น ควบคู่กับการสนับสนุนความรู้แนะนำเข้าถึงแหล่งทุน และเชื่อมโยงหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ในการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในท้องถิ่นต่อไป

 

SME D Bank เตรียมสินเชื่อ 2,000 ล้าน หนุน "เบตง" แลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่

 

ดร.ณพพงศ์  ธีระวร  กล่าวว่า   ทางคณะกรรมการฯ  มีความยินดียิ่งในความร่วมมือครั้งนี้   ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสถาบัน ในการมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นแบบครบวงจร และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

โดยความร่วมมือครั้งนี้  จะช่วยกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  พ่อค้า แม่ค้า รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่เป้าหมายใน ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง   และบริเวณโดยรอบทะเลสาบฮาลาบาลา ซึ่งทำให้เป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือน อ.เบตง ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนต่อปี และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการในท้องถิ่นเฉลี่ยรายละ 5,000 บาท เพื่อนำเงินจากนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ถึง 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี  ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอีกถึง 4 เท่า หรือกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจของ จ.ยะลา หรือ   GPP (Gross Provincial Product)  โตขึ้นถึง 2 เท่าตัว    

 

SME D Bank เตรียมสินเชื่อ 2,000 ล้าน หนุน "เบตง" แลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่      

 

“ศักยภาพของอำเภอเบตง เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง รวมถึงมีหมอกตลอดทั้งปี อำเภอเบตงเป็นเมืองการค้าชายแดนและเมืองท่องเที่ยวที่มีความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ   การสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้โดดเด่นและเกิดความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยสิ่งดึงดูดเชิงอัตลักษณ์ของเบตง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรืออาหารพื้นถิ่น ที่เป็นอัตลักษณ์ ก็จะส่งผลทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น”

 

ทั้งนี้ความร่วมมือกับ SME D Bank  ในวันนี้ จะมาช่วยเติมเต็มในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่เบตง และพื้นที่ใกล้เคียง  สามารถยกระดับมาตรฐาน  ทั้งการผลิตและบริการ ให้มีความพร้อมสามารถรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว  สร้างประโยชน์ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน     

 

ด้าน นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank  กล่าวว่า  จากศักยภาพของ อ.เบตง จ.ยะลา ที่มีจุดเด่น ชุมชนเข้มแข็งสามัคคี  วัฒนธรรมท้องถิ่นโดดเด่น  ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  เป็นเมืองสงบปลอดภัย   มีเขตชายแดนติดเมืองเศรษฐกิจของมาเลเซีย   ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเข้ามาท่องเที่ยว    และล่าสุด สนามบินเบตงเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว

 

ดังนั้น  SME D Bank  ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย และคณะกรรมการฯ  ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ อ.เบตง ยกระดับเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของท่องเที่ยวประจำภาคใต้ ผ่านมาตรการด้านการเงินและการพัฒนา เพื่อยกระดับพัฒนากิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ อ.เบตง และใกล้เคียง สร้างประโยชน์เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

 

ที่ผ่านมา SME D Bank ดำเนินภารกิจของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ตัวอย่างหนึ่ง จับมือผู้ประกอบการธุรกิจ “แพ 500 ไร่” เข้าไปพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนพื้นที่เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  สนับสนุนเงินทุนและความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการแพที่พัก ห้องพัก และปรับปรุงเรือโดยสาร เพิ่มความสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว  ช่วยให้เขื่อนเชี่ยวหลาน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดฮิต  สร้างรายได้เพิ่มแก่ชุมชนโดยรวม ซึ่ง SME D Bank จะนำโมเดลความสำเร็จดังกล่าว มาปรับใช้เพื่อยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวเบตงต่อไป