"สนามบินเบตง" ดันราคาที่ดินพุ่ง แลนด์มาร์คใหม่ บูมเศรษฐกิจชายแดนใต้

16 มี.ค. 2565 | 03:01 น.

เปิดทำเลทองใหม่ "สนามบินเบตง" อัพราคาที่ดินพุ่ง 2 ล้านบาทต่อไร่ ปักหมุดศูนย์กลางชายแดนใต้ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวคึกคัก

กระทรวงคมนาคมและกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ฤกษ์เปิดเที่ยวบินสนามบินเบตงบนพื้นที่ 921 ไร่ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเบตงจังหวัดยะลาด้วยการเป็นสนามบินกลางหุบเขาโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมของอาคารที่ออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากไผ่ตงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของเบตง

 

 

ขณะเดียวกันยังเปิดทำเลทองใหม่ พัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยรัศมีรอบสนามบิน เพื่อรองรับความเจริญ และการเดินทางในอนาคต อย่างไรก็ตามประเมินว่าราคาที่ดินอาจขยับสูง จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐกิจ”พบว่า มีการรวมแปลงที่ดินและประกาศขายกันอย่างคึกคัก ในราคาไร่ละกว่า2ล้านบาททำเลติดถนนทางไปสนามบินเบตง

 

 

สำหรับ“เบตง” เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ติดกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจและการค้าขายสูง ประกอบกับมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ รวมถึงภาษาที่หลากหลาย และธรรมชาติมีความสวยงามทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ

 

 

รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงคมนาคมในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการยกระดับการให้บริการประชาชน ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่งให้มีความคุ้มค่าและทั่วถึง ดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งของพื้นที่จังหวัดยะลา โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ การพัฒนาบริการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาด่านศุลกากรชายแดน ศูนย์เศรษฐกิจชายแดน และการอำนวยความสะดวกผ่านแดนที่รวดเร็ว ตลอดจนผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางบกและทางอากาศ เพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ สามารถรองรับการค้าและการลงทุนที่จะสูงขึ้นจากการเป็นประชาคมอาเซียน

 

 

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และนโยบายการพัฒนา 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เนื่องจากอำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัด รองจากอําเภอเมืองยะลา แต่การเดินทางในปัจจุบันต้องอาศัยการเดินทางทางถนนเป็นหลัก โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 410 จากตัวเมืองยะลาเป็นระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางนานถึง 3.5 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยวลาดชันเป็นช่วง ๆ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากอำเภอเบตงไปยังเมืองอื่น ๆ

ขณะที่การคมนาคมทางอากาศในจังหวัดยะลามีเพียงสนามบินเบตง ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเทศบาลเบตงประมาณ 15 กิโลเมตรในอดีตใช้เป็นสนามบินเพื่อความมั่นคงและใช้ในราชการทหารเท่านั้นแต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมของอําเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงให้สะดวกรวดเร็วรวมทั้งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่ ทำให้สนามบินยานเบตงจึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

 

 

 นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์สนามบินเบตงในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของกรม และกระทรวงคมนาคม ที่สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยสนามบินนี้ถือเป็นสนามบินที่มีความพร้อมรองรับเครื่องบินที่มีขนาด 80 ที่นั่งได้ อาทิ ATR-Q 400 จำนวน 3 ลำ และสามารถจอดรถยนต์ได้ 140 คัน

 

 

 ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีการเพิ่มเที่ยวบิน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง สุวรรณภูมิ-เบตง และหาดใหญ่-เบตง จากเดิมที่มีเฉพาะเส้นทาง ดอนเมือง-เบตง โดยเส้นทาง หาดใหญ่-เบตง คาดว่าจะได้เห็นการเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้ ซึ่งถ้าทำได้จะส่งผลดีต่อพื้นที่เพราะห่างจากชายแดนมาเลเซียประมาณ 20 กิโลเมตร (กม.) โดยสามารถรองรับชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐเคดะห์ และรัฐเปรัก ที่มีประชากรประมาณ 4.2 ล้านคน ซึ่งหากทำได้จริงอุตสาหกรรมการบินจะกลับมารับผู้โดยสารได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตก็กรมมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการอีก 1 เส้นทาง คือ เบตง-มาเลเซีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้พิจารณาต่อไป

 

 

 

 ส่วนสนามบินเบตงจะถึงจุดคุ้มทุนที่ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐได้เมื่อไหร่ นั้น ทางกรมประเมินว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือน จะได้ความชัดเจนว่าสนามบินจะอยู่ได้หรือไม่ แต่กรมเชื่อว่าสนามบินจะไปต่อได้ เดี๋ยวกันสายการบิน ที่มาทำการบินที่เบตงก็เชื่อว่า การเปิดเส้นทางนี้จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้แน่นอนอย่างไรก็ตาม สนามบินเบตงสามารถรองรับผู้โดยสาร 800,000 คนต่อปี

 

 

"สำหรับสายการบินที่มีความสนใจขอเปิดทำการบินในเส้นทางดังกล่าว ทางกรมมีพร้อมที่จะรับพิจารณา แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ด้วย ยืนยันว่าการเปิดสนามบินใหม่แห่งที่ 29 ของ ทย. เราทำเพื่อประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สนามบินเบตงเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ให้ได้ ซึ่งตอนนี้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของชายแดนภาคใต้ ได้ถือกำเนิดแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้นโยบายไว้ ต้องมีความเชื่อมโยง ถามทางถนนและขนส่งทางบก ที่มีการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว"

นายปริญญา กล่าวต่อว่า เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์มีความสนใจ ในการเปิดทำการบินใหม่ในเส้นทาง สุวรรณภูมิ-เบตง ปัจจุบัน ทย.ได้รับรายงานว่าสายการบินฯ อยู่ระหว่างการศึกษาจำนวนผู้โดยสารและจุดคุ้มทุน ที่ทำการบินในเส้นทางนี้

 

 

นอกจากนี้ ทย.มีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางวิ่ง (รันเวย์) จาก 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และส่วนประกอบอื่นๆ วงเงินรวมประมาณ 1,871 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบและขออนุมัติโครงการ เพื่อเสนอจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2565 นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 3 ปี หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ หรือขนาด 737-800 และขนาดเครื่องบิน A-320

 

 

อย่างไรก็ตามสนามบินเบตงยังเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อโดยเป็นการเชื่อมโยงคมนาคมภาคใต้ซึ่งเชื่อมต่อกลับทางหลวงชนบทหมายเลข ยล.3026 ,ทางหลวงหมายเลข 4326 และทางหลวงหมายเลข 410 สามารถเดินทางเข้าสู่เมืองเบตงและอำเภอธารโตได้โดยตรงรวมทั้งสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 410 เดินทางสู่อำเภอเมืองยะลาต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสได้

"สนามบินเบตง" ดันราคาที่ดินพุ่ง  แลนด์มาร์คใหม่ บูมเศรษฐกิจชายแดนใต้

 

 

นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางจากสนามบินเบตงไปยังด่านชายแดนไทยมาเลเซียโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 410 ซึ่งห่างจากชายแดนมาเลเซีย 20 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ชาวมาเลเซียในรัฐเปรัคและรัฐเคดาห์มาเลเซียใช้บริการได้สะดวกขอใกล้กว่าการไปสนามบินปีนังที่เดินทางประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นประตูการค้าชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างการพาณิชย์ในระดับประเทศและต่างประเทศ