“ส้ม” ผลไม้ซ่อนสารพิษ จริงหรือไม่ มีคำตอบ

13 มี.ค. 2565 | 07:35 น.

นายกสมาคมวัชพืช เปิดความจริง “ ส้ม” ผลไม้ซ่อนสารเคมีพิษจริงหรือไม่ หลังจาก NGO พบสารตกค้าง ยัน อันตราย จริง ต้องกินส้มทั้งเปลือก แต่ถ้าปอกเปลือกรับประทาน สารตกค้างจะเหลือน้อยมาก หรือ แทบไม่มี อ้างอิงงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

ดร.จรรยา มณีโชติ

 

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การให้ข้อมูลของ NGO  เรื่อง พบสารตกค้างในส้มทำให้สังคมตื่นตระหนกเกินเหตุ ทางสมาคมได้ตั้งข้อสังเกต 1.แหล่งที่มาของส้ม ใช้ผลผลิตจากที่ไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ  2.ปริมาณที่พบความเข้มข้นเท่าไร ตกค้างเกินมาตรฐาน MRLs หรือ Maximum Residue Limits นั้น เป็นพียงมาตรฐานทางการค้า (Trading Standard) ไม่ใช่ค่ามาตรฐานความปลอดภัย (Safety Standard) แล้วโดยปกติคนรับประทานส้ม ปอกเปลือกอยู่แล้ว

 

แต่ถ้าใครกินส้มทั้งเปลือก..คงตัองตื่นตระหนกไปกับข่าว NGO พบสารตกค้างในส้มพราะ 1. หลักการวิเคราะห์หาสารตกค้างในผลไม้ ต้องวิเคราะห์รวมกันทั้งเนื้อและเปลือก  โดยไม่ล้างเปลือก  2. กรมวิชาการเกษตร เคยทดลองวิเคราะห์ส้มเขียวหวานและส้มโอ แยกเนื้อและเปลือก พบว่า สารตกค้างอยู่ในเปลือกเท่านั้น รวมทั้ง  ค่า ADI หรือ Acceptable Daily Intake เป็นค่าความปลอดภัยที่บอกเราว่า ในแต่ละวัน

 

ร่างกายมนุษย์สามารถรับสารนั้นเข้าสู่ร่างกายทางปากได้ทุกวันอย่างปลอดภัยจนตลอดอายุขัย  ในปริมาณเท่าไหร่   มีหน่วยเป็น มิลลิกรัมของสาร/กิโลกรัมน้ำหนักตัวคนกิน/วัน  ซึ่ง ค่า ADI ต้องใช้ค่าเฉพาะอื่น มาประกอบด้วย คือ น้ำหนักตัว (body weight) ของผู้บริโภค และ ปริมาณส้มที่คนๆนั้นสามารถบริโภคได้ต่อวัน 

 

"ส้มไทย" สารตกค้างอยู่ที่เปลือก

ตัวอย่างเช่น ค่า ADI ของพาราควอต มีค่าเท่ากับ 0.005 มก./กก.น้ำหนักตัว/วัน   แสดงว่า คนน้ำหนักตัว 60 กก. สามารถรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายได้อย่างปลอดภัยวันละ = 0.005 x 60 = 0.3 มก.

 

สมมติว่า ตรวจพบ พาราควอตตกค้างในส้ม 0.02 มก./กก. หมายถึง ถ้าคนกินส้ม (ทั้งเปลือก) 1 กก. จะได้รับสารพาราควอต  0.02  มิลลิกรัม เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งยังไม่เกินค่าความปลอดภัยที่คำนวณไว้ 0.3 มก.

 

สารตกค้างผัก-ผลไม้

 

ถ้าจะบริโภคให้ 'เกิน" ค่าความปลอดภัย ️คนมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม  ต้องกินส้ม (ทั้งเปลือก) ที่มีพาราควอตตกค้าง "มากกว่า" วันละ 15 กิโลกรัมต่อเนื่องกันไปจนตลอดอายุขัย คนๆนั้นจึงอาจจะเกิดอันตราย  และถ้าก่อนรับประทาน คุณปอกเปลือกส้มออกก่อน โอกาสที่คุณจะได้รับสารตกค้างเข้าสู้ร่างกายยิ่งเหลือน้อยมากกก  หรือ ต้องกินส้มมากกว่าวันละ 1,000 กก.

 

แต่ในโลกนี้ ใครกินส้มได้ทั้งเปลือกได้มากกว่า วันละ 15 กก. บ้าง ถ้ามี‼️ยกมือขึ้น เพราะคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการกินส้มที่มีพาราควอตตกค้างได้

 

ดร.จรรยา กล่าวว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่สารพิษ  ค่าMRLเป็นค่ามาตรฐานทางการค้าไม่ใช่ค่ามาตรฐานความปลอดภัย วิงวอนให้เตือนสติตัวเองก่อนอ่านข่าวสารตกค้าง เพราะการให้ข่าวในลักษณะนี้เป็นการทำร้ายเกษตรกร เป็นการทำร้ายอุตสาหกรรม ถ้ามีข้อมูลไม่ครบ..ถือว่าเป็นข้อมูลที่ต้องการสร้างความตระหนก เท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องเป็นหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนจัดการ

 

แต่ถ้าเป็นส้มที่ปลูกในประเทศไทยก็ต้องไปสืบดูว่ามาจากแหล่งผลิตที่ไหน มีการล้างทำความสะอาดที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะจากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรพบว่า สารเคมีอยู่ที่เปลือกเท่านั้น