นมโรงเรียนปี 65 ป่วน “ทุ่งกุลาฯ” เฮ ศาลรับฟ้อง ปลัดเกษตรฯ

06 มี.ค. 2565 | 08:02 น.

“ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์” เฮ ศาลรับฟ้องปลัดเกษตรฯ กับพวก 16 คน ออกเกณฑ์นมโรงเรียนทำให้เสียหาย นัดไต่สวน 9 พ.ค. แนะเปิดเสรีให้ อบจ.-อบต. จัดซื้อ ผ่าขุมทรัพย์ 8 สหกรณ์-บริษัท ขอโควตา ปั๊มรายได้กว่า 5 พันล้าน/ปี สมาคมนมพาสเจอร์ไรส์ แนะตัดสิทธิพิเศษ รง.5 ตัน-ทำหมัน อ.ส.ค.ร่วมโครงการ

พลิกแฟ้ม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ย้อนไปเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกหนังสือที่ ปช 0003/0235 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดย ป.ป.ช. เห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต มีผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562

 

โดยการเสนอของนายกฤษฎา บุญราช ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น จากวันนั้นถึงวันนี้จะครบ 3 ปี มีผู้ได้รับความเสียหายจากการออกกฎเกณฑ์นมโรงเรียนได้ฟ้องร้องกระทรวงเกษตรฯ และศาลได้รับฟ้องแล้ว

 

ชยภัค เกษมทรัพย์

 

นางสาวชยภัท เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บจก.ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ได้รับไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 297/2564 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่าง บจก.ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ และ บจก.อุดรแดรี่ฟูดส์  รวม 2 คน ฝ่ายโจทย์ กับ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับพวกรวม 16 คน ฝ่ายจำเลย ในฐานะที่ออกหลักเกณฑ์โครงการนมโรงเรียน ทำให้บริษัทเสียหายปีละ 24 ล้านบาท จากผลพวงการออกแบบหลักเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่ประจำปี 2564 ทำให้ สหกรณ์/โรงนมเอกชน แตกสาขา โรงงานละ 5 ตัน ต่อวัน สามารถเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนได้โดยอัตโนมัติ แล้วยังให้เครดิตกับกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก

 

 “ศาลได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทย์ประกอบรายงานเจ้าพนักงานคดีชั้นตรวจฟ้องเห็นว่าให้รับไว้ไต่สวนมูลฟ้อง เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 พร้อมกับสำเนาฟ้องให้จำเลยทั้ง 16 คน แจ้งสิทธิจำเลยตามกฎหมายในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น. เหตุที่นัดนานเนื่องจากคดีนี้มีจำเลยถึง 16 คน และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างท้องที่กัน”

 

นางสาวชยภัท กล่าวอีกว่า  ขอเคารพการตัดสินใจของศาล ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ส่วนระบบนมโรงเรียนนั้น หากข้าราชการจัดโควตามีปัญหาก็ไม่ควรที่จะจัด ควรจะเปิดเสรี เช่น ให้สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น อบจ. หรือ อบต.)  เปิดประมูลให้โรงงานแต่ละโรงมีการแข่งขันกัน จากโครงการนมโรงเรียนมาจากภาษีประชาชน เช่น โรงงาน  ก. จะไปซื้อน้ำนมดิบกี่ตัน จะขายได้เท่าไร ก็ให้โรงงานนั้นเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ต้องไปยุ่ง แล้วให้สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เลือกว่าจะเลือกซื้อกับใคร ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ มองว่าตรงนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

 

เปิดรายได้ 8 สหกรณ์-บริษัท หากได้รับสิทธิ์ตามคำขอ

 

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาข้อเรียกร้องของ 8 สหกรณ์-บริษัท ที่ขอให้รัฐบาลจัดสรรสิทธิโควตานมโรงเรียนปี 2565 ให้เพิ่ม ซึ่งรวมรายได้หากได้รับการจัดสรรตามที่ขอรวมกัน จะมีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

 

 

วสันต์ จีนหลง

 

ขณะที่นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส กล่าวว่า ทางสมาคมมีสมาชิกจากหน่วยงานภาคราชการ ภาคสหกรณ์และภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 21 องค์กร มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะรวมถึงแนวทางแก้ไข ปัญหาและอุปสรรคโดยสรุป อาทิ การจัดสรรสิทธิโดยซื้อนมดิบไม่ควรนำพื้นที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ มาคิดลดทอนสิทธิเนื่องจากเป็นการซื้อน้ำนมดิบจากเกษตกรในประเทศเหมือนกัน, การจัดสรรสิทธิโดยซื้อน้ำนมดิบควรนำพื้นที่ ระยะทางขนส่งจากศูนยร์วบรวมน้ำนมดิบถึงโรงงานผู้ประกอบการมาคิดลดทอนสิทธิ 5% จากหลักเกณฑ์ลดทอนสิทธิ 10% และ ควรยกเลิกประกาศให้สิทธิโรงงาน 5 ตันก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเท่าเทียมกัน

 

 

“ที่สำคัญ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ควรได้รับสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนในโครงการไม่เกินกว่าเดิม ซึ่ง อ.ส.ค. ไม่ควรมาแข่งขันในตลาดนมโรงเรียน ควรทำหน้าที่ด้านการตลาดแข่งขัน ในเชิงตลาดพาณิชย์เพื่อเป็นตัวอย่าง และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการและสหกรณ์ในประเทศ ที่จะแปรรูปนมสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้”

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,763 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2565