จับตาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่เกณฑ์TORพิลึก!

05 มี.ค. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2565 | 10:26 น.

วงการรับเหมาปูดจับตาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม1.4แสนล้าน รอบใหม่เกณฑ์TORพิลึก! กำหนดคุณสมบัติ ผู้ประมูลงานต้องมีผลงานก่อสร้างรถไฟฟ้า-อุโมงค์เสร็จสมบูรณ์แล้ว100% หลังศาลปกครองกลางวินิจฉัยเกณฑ์TORใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัย กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล(TOR) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)ระยะทาง 35.9 กิโลเมตรมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซีเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง

               

 แม้เบื้องต้นศาลไม่ได้ระบุชัดว่า รฟม.ต้องนำโครงการสายสีส้ม เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งก่อนประมูล รอบใหม่ แต่ยอมรับว่า รฟม.ได้กลับไปใช้เกณฑ์ TOR เดิมหรือ พิจารณาซองราคาเป็นหลัก เหมือนกับสายสีม่วงใต้ ตามคำสั่งศาลปกครองกลางและความเห็น จากผู้แทนองค์กรต่อต้านการคอรัปชั่น ผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ทั้งนี้เบื้องลึกมีรายงานข่าวจากแวดวงผู้รับเหมาระบุว่าแม้รฟม.จะใช้เกณฑ์ TOR พิจารณาซองราคาเป็นเกณฑ์ แต่ อาจจะกำหนดสเปกหรือคุณสมบัติผู้รับงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันตก ช่วง (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ไว้สูง กล่าวคือต้องเคยมีผลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าและงานอุโมงค์ เสร็จสมบูรณ์ 100%

 

มาประกอบการยื่นขอประมูลงาน จากเดิม เพียงแค่นำผลงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือโชว์ผลงานการตรวจรับงานมาแสดง เช่นเดียวกับงานอุโมงค์ กำหนดเพียงผู้รับเหมาที่เคยชนะการประมูลอุโมงค์มูลค่างานต้องไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

               

 

สำหรับโครงการประมูลสายสีส้ม จะเป็นการรวมงานระบบเดินรถและงานโยธา สายสีส้มตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน ส่งผลให้ เอกชนผู้ที่จะผ่านคุณสมบัติซื้อซองประกวดราคาได้จะต้อง มีผลงานการเดินระบบรถไฟฟ้า และมีผลงานโยธาด้านรถไฟฟ้าและอุโมงค์มาแล้ว

 

มองว่าอาจไม่เป็นธรรม เพราะเมื่อกำหนดคุณสมบัติในลักษณะดังกล่าว เท่ากับว่า ในประเทศไทยจะมีผู้รับเหมาที่เคยผ่านการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอุโมงค์เพียง 2 รายเท่านั้น คือ บริษัทช.การช่างจำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บมจ. อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง CKและITD

 

มักจะจับขั้วร่วมกันขณะงานระบบเดินรถจะเป็นบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ส่วนบีทีเอสซีคู่ชิงจะเป็นผู้เดินระบบรถไฟฟ้า แต่ พันธมิตรร่วมลงทุนงานโยธาจะเป็น บมจ.บริษัท ซิโน-ไทยหรือSTECON ซึ่งเพิ่งมีผลงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันออกและงานอุโมงค์แต่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

 “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม แหล่งข่าวจากจากบีทีเอสซีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าBTSสายสีเขียว ระบุคุณสมบัติดังกล่าว มองว่า ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะ STECON พันธมิตรในกิจการร่วมค้ายังไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข สำหรับทางออกจะต้องหาผู้รับเหมาต่างชาติจากประเทศจีนที่มีผลงานมาร่วมงาน

               

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่ากรณีรฟม. มีแผนที่จะเปิดประมูลสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น บริษัทฯมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าวเนื่องจากสายสีส้มเป็นงานใหญ่ ต้องมีความพร้อมทั้งด้านการก่อสร้าง การบริหาร และด้านการเงิน ฯลฯ ซึ่ง BEM เป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) มั่นใจว่ามีความสามารถในการดำเนินการได้

               

“เราพร้อมยื่นประมูลแข่งขันตามขั้นตอนในทุกตามกติกาที่ ประกาศออกมา เนื่องจากบริษัทฯมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในคุณสมบัติและความสามารถในการประมูลแข่งขันในครั้งนี้ เพราะมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาดูเรื่องงานก่อสร้าง ส่วนการหาซับคอนแทคที่จะเข้ามาสนับสนุนทางการเงิน อย่างซัพพลายเออร์ นั้นเราสามารดำเนินการได้อยู่แล้วขณะที่ด้านการเงินเรามั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงาน คือต้องทำโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงที่ต้องมีคุณภาพในอนาคตด้วย”

               

สำหรับ ไทม์ไลน์ประมูลสายสีส้ม ตะวันตก (บางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรมฯ)มูลค่า 9.5 หมื่นล้านบาท งานระบบเดินรถ 3.2 หมื่นล้านบาท รายงานข่าวจาก รฟม. ระบุว่า เดือนมีนาคม-สิงหาคม2565 เปิดประมูล เดือน กันยายน 2565 เริ่มก่อสร้าง เดือนสิงหาคม2568 เปิดเดินรถส่วนสายสีส้มตะวันออก และเดือนธันวาคม2570 เปิดเดินรถส่วนสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)