แฉเงื่อนงำ คมนาคม ขวางลำBTSสุดลิ่ม หวังบีบรามือประมูลสายสีส้ม-ถอนฟ้องคดี

09 ก.พ. 2565 | 12:27 น.

“ศักดิ์สยาม”ยันคมนาคมเดินหน้าค้านต่อขยายสัมปทานบีทีเอส วงในแฉเบื้องหลังคมนาคมขวางลำสุดลิ่ม แค่หวังบีบเอกชนรามือประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม -ถอนฟ้องคดีความรฟม. ลุ้นระทึกคดีทุจริต หลังศาลปกครองชี้ขาดแก้ไขเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เลื่อนวาระการพิจารณาแปลงสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ตามที่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอออกไปก่อนว่า ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ ครม.ที่เข้าร่วมประชุม ที่ทำให้ได้มีการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในการให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจง ซึ่งในส่วนกระทรวงคมนาคมได้ตั้งข้อสังเกตให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล เพราะหลายประเด็นทาง กทม.ยังทำไม่รอบด้านและครบถ้วน

 

 

 “การที่ 7 รมต.ของพรรคภูมิใจไทย แสดงออกชัดเจนไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ก็เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อกระทรวงมหาดไทยที่มีการเสนอขอขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่การดำเนินการต่างๆ ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ก็แสดงออกชัดว่าค้าน ไม่อยากให้เข้าร่วมประชุมแล้วไปถกเถียงกันใน ครม. ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อไม่เห็นด้วย”

 

 

แฉเงื่อนงำคมนาคมขวางสุดลิ่ม!

 

 แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวที่จะนำไปสู่การต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปีนั้น เป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ กทม.มีอยู่กับบีทีเอสโดยเร็ว ก่อนจะได้ข้อยุติที่จะให้ต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสจำนวน 30 ปีแลกกับการให้เอกชนต้องรับภาระหนี้ของ กทม.ไปทั้งหมด ซึ่งแนวทางดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอต่อประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยที่กระทรวงคมนาคมเองก็มีหนังสือยืนยันเห็นด้วยมาโดยตลอด

 

 

 แต่เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กลับปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมที่เคยให้ความเห็นชอบมาโดยตลอด กลับจัดทำความเห็นคัดค้าน โดยอ้างว่าอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดสายสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าของ รฟม.และยังมีประเด็นข้อกฎหมายและมติ คณะรัฐมนตรีที่กระทรวงคมนาคมยังดำเนินการไม่ครบถ้วน จึงทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องขอถอนเรื่องออกจากที่ประชุม ครม.ไปแล้วถึง 2 ครั้งก่อนหน้านี้

 

 

 ทั้งนี้ การคัดค้านการต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสของกระทรวงคมนาคมเต็มไปด้วยเงื่อนงำอันชวนสงสัย เพราะก่อนหน้านี้ รมต.คมนาคมไม่ได้มีท่าทีคัดค้านมาก่อนแต่อย่างใด โดยนับตั้งแต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ ส.ค.62 ก็ไม่เคยทักท้วงหรือคัดค้านการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ว่านี้ ทั้งยังเคยมีหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม.ถึง 3 ครั้ง เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ ระหว่างกทม.และ BTS ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 11 พ.ย.62 แต่หลังเกิดปัญหาการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม วงเงินกว่า 1.427 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม ) ถูก BTS ฟ้องกราวรูด ตั้งแต่ผู้ว่า รฟม.-และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 กรณีปรับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตาม RFP/TOR จนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองและระงับการใช้เกณฑ์เจ้าปัญหาดังกล่าว ท่าทีของกระทรวงคมนาคมที่มีต่อโครงการนี้ก็เปลี่ยนไปทันที และลุกขึ้นมาทำหนังสือทักท้วงการต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสในทันที และออกโรงคัดค้านการต่อขยายสัมปทานอย่างหนักหน่วงเพื่อหวังจะให้นายกฯเจารจาให้กลุ่มบีทีเอสรามือจากการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม รวมทั้งถอนฟ้องคดีความทั้งหมดที่มีอยู่

ยิ่งยื้อ รัฐ-กทม.ยิ่งแบกหนี้อ่วม!

 

แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางการต่อขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้คงค้างร่วม 1 แสนล้านบาท ที่กทม. มีอยู่กับบีทีเอส การที่รัฐบาลและ ครม.ยังคงดึงเรื่องการต่อขยายสัญญาออกไปจะยิ่งทำให้่ กทม.ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายได้

 

 

ส่วนข้ออ้างของกระทรวงคมนาคมที่มีต่ออัตราค่าโดยสารสายสีเขียว 65 บาทว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าของรฟม.นั้น

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ คค.-รฟม.ไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสังคมเลยก็คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน น้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง รวมทั้งสายสีอื่นๆ ของรฟม นั้นรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนให้หมด(มากกว่า 80%) เอกชนเพียงลงทุนระบบรถไฟฟ้าและเดินรถเท่านั้น ผิดกับสัมปทาน BTS ที่เอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด และยังต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้กทม.อีก2แสนล้านด้วย

 

 

 กระนั้นหากเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่เป็นโครงข่ายนอกเมืองเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีเขียวส่วนต่อขยาย ก็พบว่า มีอัตราไม่แตกต่างกันแถมยังแพงกว่าด้วยซ้ำ ทั้งที่รัฐ(รฟม.) เป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด

 

 

 ทั้งนี้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าคำนวณจากระยะทางที่เดินทางได้ไกลสุดและราคาค่าโดยสารสูงสุด คือ สายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาท/กม. สายสีน้ำเงิน 1.62 บาท/กม. และสายสีม่วง 1.83 บาท/กม.

 

 

ความจริงที่ปรากฏข้างบนนี้บอกอะไร ที่อ้างว่าต้องคัดค้านการต่อสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดลง รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะกลับมาเป็นของรัฐ และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เป็นเรื่องปาหี่ทางการเมือง เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้วว่า ขนาดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของรัฐ และรัฐควักเงินลงทุนโครงสร้างเป็นเงินถึง 70% ของการลงทุน ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในระบบนี้ก็ควรจะต้องถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างน้อยต้อง 70% เพราะเป็นส่วนที่รัฐได้ลงทุนไปให้เอกชน หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด แต่เหตุไฉนกลับเก็บค่าโดยสารแพงกว่าระบบรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน 100% เสียอีก

 

 

 "ที่จริงหากต้องการให้ปรับลดค่าโดยสารลงมาอีก รัฐ-กทม.ก็แค่เจรจาลดค่าต๋งสัมปทานที่เรียกจากเอกชนลงมาก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะตามร่างสัญญาใหม่นั้น นอกจากบีทีเอสจะต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมแสนล้านบาทแล้ว ยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม.อีก 2 แสนล้านบาท หากต้องการให้ กทม.ปรับลดค่าโดยสารลงมาอีก ก็ต้องเจรจาปรับลดค่าต๋งสัมปทานลงมาด้วยซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลการเจรจาที่ได้จนนำมาสู่การขยายสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีน้ัน เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากจะรอให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงปี 2572 แล้วประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการแม้ทำได้ รัฐและกทม.ต้องจัดหางบไปจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและชำระหนี้ค้างระบบรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสก่อนอยู่ดี หรือหากจะเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้า ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาสัญญาจ้างบริหารที่ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่จะสิ้นสุดในปี 2585 หรือหากจะโอนส่วนต่อขยายกลับไปให้รฟม.ดำเนินการเอง ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องก็คงยุ่งขิงอยู่ดี เพราะ รฟม.ก็คงประเคนโครงการไปให้ BEM บริหารเดินรถต่อ อันจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อกับสายหลัก ที่อาจถึงขั้นต้องให้ผู้โดยสารลงจากรถเดินข้ามสถานีอีก

 

 

 

 รฟม.ระทึกผลดีทุจริตประพฤติมิชอบ

 

 ขณะที่ความคืบหน้าในคดีที่ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษา กรณี บมจ.บีทีเอส ยื่นฟ้องละเมิด รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือด จากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกโดยมิชอบ จนทำให้บริษัทเสียหาย โดยตุลาการเจ้าของคดีที่แถลงผลคดีไปแล้วก่อนหน้านี้ ล่าสุดศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ให้ยกฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก โดยเห็นว่าแม้การปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก จะเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้บริษัทเอกชน หรือทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงพิพากษายกฟ้องรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ผลแห่งคดีที่ชี้ว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามม. 36 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกดังกล่าว จะส่งผลต่อคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามมา เพราะเท่ากับชี้ให้เห็นว่า รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 33 ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบที่เข้าข่าย ม.157-158

 

 

ศาลปกครองมีคำสั่ง..”ยกฟ้องค่าเสียหาย รื้อ TOR สีส้ม”ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยภายหลังการตัดสินของศาลปกครองกลางว่า ศาล ฯ อ่านคำพิพากษาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าเป็นการฟ้องร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์แก้ไขการประมูล ซึ่งศาล ฯ ได้มีการจำหน่ายคดีบางส่วนตามที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ยกเลิกการประมูล แต่ยังเหลือคดีเรื่องละเมิด

 

 

นอกจากนี้ศาลวิเคราะห์และเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล” ที่เป็นสาระสำคัญก่อนหน้านี้ และการประมูลต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี “ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะมีการใช้งบประมาณที่มากขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท ฯ ศาลได้พิจารณายกฟ้องในส่วนของการเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากศาล ฯ มองเห็นว่า บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการดำเนินการอยู่แล้ว จึงมองว่าบริษัท ฯ ไม่เสียหาย โดยหลังจากนี้จะกลับไปหารือ ว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ เพราะจะต้องทำภายใน 30 วัน ล่าสุดยังมีคดีที่ค้างอยู่ คือ คดีที่ศาลปกครอง ในกรณีภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาคดี