เปิด “ Pig Sandbox” โมเดลต้นแบบ การเลี้ยงสุกร สู่มาตรฐานสากล

28 ก.พ. 2565 | 12:11 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดตัว “ Pig Sandbox” งัดมาตรการ 3S กำหนดพื้นที่นำร่อง โมเดลต้นแบบ การเลี้ยงสุกร สู่มาตรฐานสากล นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จังหวัด ชลบุรี พร้อมปฏิวัติการเลี้ยงใหม่ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยง อย่างถูกต้อง ถูกวิธี

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า   “ Pig Sandbox”  จะเป็นเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อนำร่อง ส่งเสริม-ฟื้นฟูการผลิต และควบคุมป้องกันโรคสุกร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย เขตพื้นที่นำร่องและพื้นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)

 

เช่น ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคการขนส่ง ฯลฯ มาตรการทางกฎหมายและการสนับสนุนด้านอื่นๆ โครงการ/กิจกรรมสำคัญที่ต้องดำเนินการ กรอบเวลาและงบประมาณ และคณะทำงานขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ สำหรับแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย มีการดำเนินการ

 

โดยใช้หลัก 3S คือ Scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pig Sandbox) Screen คน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม และ Support อุดหนุน ช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน โดยให้คำแนะนำ อบรม ในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GFM/GAP

 

สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

 

มีการอบรมเกษตรกร สนับสนุน อุดหนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน/แม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร สนับสนุนการจัดทำ ปรับปรุงฟาร์มภายใต้ระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกรสู่ระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management: GFM) โดยต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม

 

“Pig Sandbox”  แบ่งเป็น พื้นที่นำร่อง/พื้นที่ขยายผล พื้นที่ปลอดโรค ASF – Free Zone และพื้นที่นอกเขตปลอดโรค โดยปศุสัตว์เขต 5 เป็นพื้นที่นำร่อง และปศุสัตว์เขต 2 เขต 8 เขต 9 และพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรจำนวนมาก และ/หรือมีความเหมาะสมหลังประเมินความเสี่ยง เป็นพื้นที่ขยายผล ส่วนพื้นที่ปลอดโรค ASF – Free Zone จะมีกิจกรรม และมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย การขึ้นทะเบียน (คนเลี้ยง คนค้า คนฆ่า คนขน คนขาย โรงงานอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ฯลฯ) การสร้างความรับรู้ที่ดี การให้ความรู้แก่เกษตรกร การยกระดับมาตรฐานฟาร์ม GFM/GAP/ASF-Free Farm หมูหลุม อื่นๆ ระบบ Compartment ในฟาร์มสุกร มาตรการการสุ่มตรวจสอบ ตรวจโรค การกำจัดซากสัตว์

บรรยากาศการประชุม

 

ยกระดับมาตรฐาน โรงฆ่า ตัดแต่ง ห้องเย็น เขียง เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐาน“ปศุสัตว์ OK” ปลอด ASF, FMD, PRRS 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับ มีระบบ e-Movement ควบคุมการเคลื่อนย้าย มีการให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ มีการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารความเสี่ยง/ประกันภัย และพื้นที่นอกเขตปลอดโรค จะเป็น Smart Farm เป็นฟาร์มมาตรฐาน ต้องขึ้นทะเบียนฟาร์ม และปลอด ASF, FMD, PRRS 100%

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง มีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ได้แก่ การทำลายสุกรมาแล้วมากกว่า 90 วัน ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อคอกและจุดเสี่ยง เป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรอง GFM หรือ GAP ก่อนนำสุกรเข้ามาเลี้ยง 14 วัน ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะโรงเรือนที่จะนำมาเลี้ยง หลังจากนั้นเก็บตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง หน้า กลาง หลัง และท้ายของโรงเรือน จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบ ควรทดลองเลี้ยงสุกร ประมาณร้อยละ 10 – 15 ของจำนวนสุกรที่สามารถเลี้ยงได้จริงในโรงเรือน และเฝ้าระวังทางอาการ 6 สัปดาห์ หากไม่มีอาการจึงนำเข้าเลี้ยงได้เต็มจำนวน

 

ทำงานร่วมกัน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า ฟาร์มสุกรควรมีรั้วรอบบริเวณพื้นที่การเลี้ยงสุกร ป้องกันคน รถ และสัตว์พาหะได้ ควรมีระบบทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์ม ทั้งคนและรถ ควรจัดให้มีบริเวณที่ขายสุกรมีชีวิต แยกออกมาจากพื้นที่การเลี้ยงสุกร มีคอกกักกันสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ แยกจากบริเวณการเลี้ยงสุกรเดิมภายในฟาร์ม และมีการป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะในโรงเรือน เช่น นก หนู แมลง เป็นต้น

 

 

ส่วนขั้นตอนและวิธีการล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค ให้นำมูลสัตว์ออกจากคอกกองรวมกัน ตากแดดให้แห้ง กำจัดทิ้งโดยการเผา หรือทิ้งให้ห่างจากพื้นที่เลี้ยงสุกร อุปกรณ์ภายในโรงเรือน เช่น ซองคลอด ซองยืน รางอาหาร ให้ล้างทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง รอพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นยาฆ่าเชื้อโรค หรือสารอื่นๆ ที่หาได้ง่าย เช่น ไฮเตอร์ (ผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาว) โดยผสมปริมาณ 2 ฝา ต่อน้ำ1 ลิตร ราดหรือพ่นฆ่าเชื้ออุปกรณ์ให้ทั่ว และใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดมูลสัตว์ที่ติดกับพื้นคอกออกให้หมด แล้วใช้โซดาไฟ (ระวังอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ) ราดพรมให้ทั่ว ทิ้งไว้ 30 นาที แล้วล้างออก

 

ประกาศร่วมมือ

ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็ก และเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับฟาร์มให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร

 

 

ด้านนายนิพัฒน์  เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี  กล่าวว่า จังหวัดราชบุรี เป็นโมเดลต้นแบบ พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้เลี้ยง หรือเกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงใหม่ อย่างถูกต้อง และ ถูกวิธี