การจ้างงานปี 2565 แนวโน้มฟื้น จับตาปัญหาค่าครองชีพต่อ

28 ก.พ. 2565 | 03:50 น.

สศช.เปิดภาวะสังคมไทย ชี้สถานการณ์การจ้างงานปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังเจอกับโควิด-19 มายาวนาน จับตาปัญหาค่าครองชีพ มาตรการเศรษฐกิจ ช่วยประคอง

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานปี 2565 คาดว่า สถานการณ์ด้านแรงงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ไม่รุนแรงมากนัก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด

 

ส่วนภาพรวมสถานการณ์แรงงานในปี 2564 พบว่า การจ้างงาน มีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ 1.8% จากการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาทำงานในสาขานี้ 

 

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมการจ้างงานลดลง 0.6% เป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาการขนส่งที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 44.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่การทำงานต่ำระดับยังอยู่ในระดับสูง 

 

ส่วนอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.93% เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.69% ในปี 2563 จากผลกระทบที่สะสมตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดีการว่างงานในระบบที่สะท้อนจากผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

สถานการณ์แรงงานไตรมาสสี่ ปี 2564 และภาพรวมการจ้างงาน

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป มีดังนี้

 

1.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่ต้องเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยมาตรการทางเศรษฐกิจต้องเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่ม SMEs ที่มีการจ้างงานมากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด รวมทั้งการสร้างงานในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด

 

2.การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาก (ทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างและช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องมีมาตรการจูงใจให้แรงงานกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคง 

3.ภาระค่าครองชีพของประชาชน จากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสามและสี่ของปี 2564 ส่งผลให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งระยะต่อไปต้องติดตามระดับราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ 

 

4.การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ/การปรับเปลี่ยนทักษะ ที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาวที่ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

 

รวมทั้งแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้แรงงานสามารถยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ทำใหเมีรายได้ที่มั่นคง และช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที