นักวิชาการตั้งคำถาม รัฐย้ำชัด! หมูไทยไม่หายไปไหน แล้วทำไม? ต้องนำเข้า

20 ก.พ. 2565 | 06:27 น.

กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง รัฐย้ำชัด “หมูไม่หาย” แล้วทำไมต้องนำเข้า แนะควรปล่อยกลไกตลาดทำงาน ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงจะตามมาหากมีการอนุญาตให้นำเข้า

 

การอภิปรายทั่วไปของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่เพิ่งจบไป มีประเด็นซักถามหลัก 4 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องโรค ASF (อหิวาต์แอฟริกาในสุกร)

 

ประเด็นนี้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงโดยย้ำว่า ไม่ใช่เพราะหมูป่วยเป็นโรคที่ทำให้หมูราคาแพง แต่มีกระบวนการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้แพง ยืนยันรัฐบาลไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคระบาด ตรงกันข้ามรัฐได้หาทางแก้ไขอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด

 

นักวิชาการตั้งคำถาม รัฐย้ำชัด! หมูไทยไม่หายไปไหน แล้วทำไม? ต้องนำเข้า

 

ที่สำคัญการที่ไทยสามารถส่งหมูมีชีวิตไปประเทศเพื่อนบ้านได้มากกว่า 3 ล้านตัว ในปี 2563 และอีก 1.4 ล้านตัว ในปี 2564 ดังนั้น จะปิดบังไม่ได้เลยว่าหมูเป็นโรค เพราะประเทศอื่นก็ตรวจอย่างจริงจังเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ปี 2563-2564 ไทยมีหมูแม่พันธุ์ประมาณ 1.1 ล้านตัว สามารถขยายพันธุ์ได้ 1 แม่ ต่อ 20 ตัว ดังนั้น ในปี 2564 ที่ผ่านมา จึงมีหมูขุน 19 ล้านตัว ขณะที่คนไทยบริโภคหมูวันละ 5 หมื่นตัว เท่ากับในหนึ่งปีคนไทยกินหมูไปทั้งหมด 18 ล้านตัว อีก 1.3 ล้านตัว เป็นการส่งออก ตัวเลขหมูจึงไม่ได้หายไปไหน

 

ขณะเดียวกันการที่กรมปศุสัตว์และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันสำรวจสต๊อกหมูปูพรมทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่าเหลือหมูถึง 12 ล้านตัว และในห้องเย็นกว่า 1,087 แห่ง มีเนื้อหมูในสต๊อก 25 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น ไม่ใช่โรค ASF ที่ทำให้หมูตาย หมูขาดตลาด แล้วส่งผลให้เนื้อหมูราคาแพง เพราะปริมาณหมูยังอยู่ครบ

 

นักวิชาการตั้งคำถาม รัฐย้ำชัด! หมูไทยไม่หายไปไหน แล้วทำไม? ต้องนำเข้า

 

คำตอบนี้ชัดเจนว่าปริมาณหมูของไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่ก็มิวายที่บางฝ่ายยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ อ้างว่าเพื่อเพิ่มสต๊อกหมูในประเทศ  แต่เมื่อภาครัฐยืนยันหนักแน่นเช่นนี้ ก็ทำให้คิดไปได้ว่า ฤาจะเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตนเองกันแน่ ทั้งที่รู้ดีว่าการมาของหมูนอกนั้น ไม่ต่างกับการผลักเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้ดิ่งเหว จากสารพัดความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

 

ความเสี่ยงแรก : เนื้อหมูต่างประเทศอาจนำพาโรคหมูเข้ามาด้วย อุตสาหกรรมหมูไทยจึงมีความเสี่ยงจากโรคต่างถิ่นที่มากับหมูนำเข้า หากเชื้อโรคปนเปื้อนและกระจายเข้าสู่ฝูงหมูของไทย ซึ่งทุกคนต่างได้เห็นตัวอย่างความเสียหายแล้ว จากโรค ASF ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ความเสี่ยงที่ 2 : หมูต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าไทยมาก จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่า เนื่องจากประเทศในแถบยุโรปถือเป็นผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ด้วย ต่างจากไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาเพิ่มสูงถึง 30-40% และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก หมูไทยจึงไม่อาจแข่งขันด้านราคากับหมูนอกได้

 

ความเสี่ยงที่ 3 : สารอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อหมูนำเข้า เช่น สารเร่งเนื้อแดง ที่จะก่อโรคให้กับประชาชน และส่งผลกระทบทางด้านสาธารณสุขไทย

 

เมื่อรัฐยืนยันหนักแน่นว่าประเทศไทยไม่ขาดแคลนหมู การนำเข้าเนื้อหมูจึงไม่มีความจำเป็น และควรจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ด้วยการไม่ปล่อยให้หมูนอกเข้ามาขายปะปนหมูไทย และควรปล่อยกลไกตลาดทำงานดังเช่นที่ผ่าน ซึ่งทำให้ปริมาณหมูและการบริโภคกลับสู่สมดุล ราคาหมูจึงปรับตัวลดลงได้เองโดยไม่ต้องควบคุม หลังจากนี้ก็ต้องขอแรงผู้บริโภคให้หันมาบริโภคหมูเช่นเดิม เพื่อช่วยให้วงจรหมูกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง