12 โรงงานผลิตเชื่อรัฐไม่ฉีกนโยบาย เลิกใช้ไบโอดีเซล

13 ก.พ. 2565 | 01:00 น.

12 โรงไบโอดีเซล มั่นใจรัฐไม่ฉีกนโยบาย ยกเลิก “ไบโอดีเซล” ตามคำเรียกร้องของสมาพันธ์ขนส่งฯ ระบุยอมถอยถึง บี 5 ปรับสมดุลผลปาล์ม-ปริมาณสต๊อกต่ำ ขณะ “ปาล์มขวด” ถูก “น้ำมันถั่วเหลือง” ตีตลาดยับ จากราคาถูกกว่า ด้านกรมธุรกิจพลังงานฉายภาพรวมการใช้ดีเซลเดือน ม.ค.พุ่ง 11%

สืบเนื่องจาก “น้ำมันแพง” สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (สขบท.) ได้จัดกิจกรรม ‘Truck Power Final Season’ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้รัฐบาล ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้มีความเป็นธรรมกับประชาชน รวมทั้งขอให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลาออกจากตำแหน่ง ระบุบริหารราชการขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลราคาน้ำมันดีเซล ทั้งการตรึงราคาไว้ที่ 25-27 บาทต่อลิตร และขอให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลา 1 ปี นั้น

 

แหล่งข่าวผู้ค้าไบโอดีเซล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่สามารถยกเลิกไบโอดีเซลได้ เพราะในน้ำมันดีเซล มีเรื่องของตัวหล่อลื่น และเป็นเรื่องของคุณภาพ อีกทั้งผู้ผลิตไบโอดีเซล 12 ราย (กราฟิกประกอบ) ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงาน มีการขยายกำลังผลิตตามนโยบายของภาครัฐมองว่าจะต้องประคับประคองกันไปในตลอดห่วงโซ่ให้เกิดความสมดุล และให้ทุกภาคส่วนอยู่กันได้ ไม่ใช่จะเดินเกมแบบซ้ายสุดขั้ว หรือขวาสุดขั้ว ไม่เช่นนั้นจะทำให้ระบบไม่สมดุล

 

ผู้ประกอบการ 12 ราย ที่ได้รับอนุญาตจาก กรมธุรกิจพลังงาน

 

ล่าสุดที่ได้รับทราบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานได้เห็นชอบปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปัจจุบันมี B7 เกรดเดียวให้เป็น B5 มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 31 มีนาคม 2565 ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับความผันผวนของราคาน้ำมันในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับผลผลิตปาล์ม และปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่อยู่ในระดับต่ำ

 

ส่วนในกลุ่มธุรกิจน้ำมันเพื่อการบริโภคเวลานี้ก็มีการแข่งขันกันสูงมาก โดยในส่วนของน้ำมันปาล์มขวดก็มีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันสูงกับน้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันรำข้าว เป็นต้น โดยราคาน้ำมันปาล์มขวด 1 ลิตร ณ ปัจจุบัน ขายเฉลี่ยที่ 60-62 บาทต่อขวด ขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองขายอยู่ที่ 56-58 บาทต่อขวด ถูกกว่าน้ำมันปาล์ม จากอดีตน้ำมันถั่วเหลืองราคาจะสูงกว่า ทำให้ขณะนี้ น้ำมันถั่วเหลืองขายดีกว่า

 

“มองว่าการบริหารปาล์มยังไม่ดีพอทำให้บางช่วงล้น บางช่วงขาด ราคาปาล์มในประเทศสูงกว่าราคาต่างประเทศ จึงทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศสูงกว่าน้ำมันปาล์มต่างประเทศ และทำให้สูงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ที่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศมาผลิตเป็นน้ำมันถั่วเหลือง ส่งผลทำให้น้ำมันปาล์มบริโภคขายยากมาก โดยปกติจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ครั้งนี้กินเวลานาน กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คงต้องรอให้ผลปาล์มออกมามากในช่วงเมษายน รู้สึกเห็นใจผู้บริโภคที่รับภาระของแพง”

 

12 โรงงานผลิตเชื่อรัฐไม่ฉีกนโยบาย เลิกใช้ไบโอดีเซล

 

แหล่งข่าวกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมของการใช้น้ำมันดีเซล ปี 2564 มีความผันผวนอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัดโดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย ปี 2564 อยู่ที่ปริมาณ 60.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากปี 2563 คิดเป็น 5.3% (ปี 2563 การใช้เฉลี่ย 63.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ปริมาณ 19.30 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ปริมาณ 39.85 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ปริมาณ 0.99 ล้านลิตรต่อวัน

 

หากเปรียบเทียบปริมาณการใช้เดือนธันวาคม 2564 กับธันวาคม 2563 พบว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 คิดเป็น 6.9% (ธันวาคม 2563 ปริมาณการใช้ 67.9 ล้านลิตรต่อวัน) ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเดือนมกราคม 2565  (วันที่ 1-23)  ปริมาณ 66.4 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากธันวาคม 2564 คิดเป็น 8.6% ในขณะเดียวกันปริมาณการใช้มกราคม 2565 เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2564 คิดเป็น 11.5%

 

ส่วนสถานการณ์การใช้ไบโอดีเซล (บี100) ปริมาณการใช้ปี 2564 เฉลี่ยปริมาณ 4.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจาก ปี 2563 คิดเป็น 10.2% (ปี 2563 การใช้ 5.1 ล้านลิตรต่อวัน) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลงจากปี 2563 เช่นกัน

 

12 โรงงานผลิตเชื่อรัฐไม่ฉีกนโยบาย เลิกใช้ไบโอดีเซล

 

หากเปรียบเทียบปริมาณการใช้เดือนธันวาคม 2564  กับธันวาคม 2563 การใช้ธันวาคม 2564 (5.0 ล้านลิตรต่อวัน) ลดลงจากธันวาคม 2563 (5.3 ล้านลิตรต่อวัน) คิดเป็น 6.5%  สำหรับการใช้ในเดือนมกราคม 2565 (วันที่ 1-23) ปริมาณ 4.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจาก ธันวาคม 2564 คิดเป็น 6.2% (ธันวาคม 2564 ปริมาณ 5.0 ล้านลิตร/วัน) ในขณะเดียวกันปริมาณการใช้ บี 100 มกราคม 2565 เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2564 คิดเป็น 0.3%

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565