สวนปาล์ม “บอยคอต” กนป. หลัง ไฟเขียว “ซีพีโอ” ผ่านไป สปป.ลาว

11 ก.พ. 2565 | 07:05 น.

ข่าวสุดช็อค สวนปาล์มบอยคอต กนป. หลังไฟเขียว สปป.ลาว ผวาเปิดช่องน้ำมันเถื่อนสวมรอยทำราคาร่วงยาว ตัวแทนเกษตรกรลั่นเลิกเข้าร่วมประชุม “ปลัดพาณิชย์” แจงยิบ ต้องทำตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ หวั่นถูกตอบโต้ทางการค้า จากไทยส่งสินค้าผ่านลาวไปจีนกว่า 8.6 หมื่นล้านต่อปี

ปมเกษตรกรชาวสวนปาล์มคัดค้านการนำผ่านน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) จากมาเลเซียผ่านไทยไป สปป.ลาวทางบกผ่านทางด่านสะเดา จ.สงขลา ไปจนถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 (หนองคาย) ระยะทาง 1,612 กิโลเมตร โดยเกษตรกรเกรงจะเกิดการสวมรอยลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม ไม่มีการส่งออกไปจริง และจะทุบราคาปาล์มในประเทศตกต่ำ ทั้งนี้ได้เสนอให้ใช้การขนส่งทางเรือจากมาเลเซียผ่านท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด และใช้การขนส่งทางบกต่อไปยัง สปป.ลาวตามด่านที่กำหนดเพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแล

 

ล่าสุดเรื่องนี้ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เสนอ ตามคำขอรัฐบาล สปป.ลาว ขอนำน้ำมันปาล์มดิบผ่านแดนไม่เกิน 5,000 ตันต่อปี นำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวสวนปาล์ม

 

พันศักดิ์ จิตรรัตน์

 

นายพันศักดิ์  จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการใน กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวแทนเกษตรกรประกอบด้วย นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์,นายสิทธิพร จริยพงค์, ดร.ปิยวิทย์ โกฏิเพชร, นายมนัส พุทธรัตน์, นายโสฬส เดชมณี, นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วย มีมติบอยคอต เลิกเข้าร่วมประชุม กนป. อีกต่อไป เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเนื่องจากที่ประชุมมีธงในใจอยู่แล้ว และจะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศได้รับทราบ

 

 “จะหารือกันว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะทำอย่างไรบ้าง หากเขาไม่ทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้วเราจะเลือกเขาไปเป็นตัวแทนเราทำไม ที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่าเรื่องนี้เกษตรกรได้คัดค้านและต่อสู้มาตลอด แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนได้ เพราะได้ตัดสินใจไว้แล้ว”

 

 

คาดการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์ม เปรียบเทียบ ปี 2564-2565

 

ทั้งนี้มองว่าการเปิดด่านสะเดานำผ่านน้ำมันปาล์มไปลาว เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มน้ำมันปาล์มเถื่อน สวมรอย สวมสิทธิ์ แอบอ้าง จะส่งผลกระทบทางรายได้ต่อชาวสวนปาล์มทั้งประเทศ  ซึ่งหากผลผลิตปาล์มของเกษตรกรออกสู่ตลาดเต็มที่เฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัน ถ้าเกิดผลกระทบต่อราคาปาล์มเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท รายได้เกษตรกรจะหายไปวันละ 50 ล้านบาท หรือเดือนละ 1,500 ล้านบาท

 

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงในที่ประชุม กนป.ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องอนุมัติให้ตามคำขอของรัฐบาลลาว จากต้องทำตามพันธสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ อาทิ อนุสัญญาบาร์เซโลนา ว่าด้วยเสรีภาพในการผ่านแดน ค.ศ.1921, ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ปี 1994 หากมีการจำกัดจะส่งผลให้ประเทศสมาชิก WTO ไม่มีเสรีภาพในการผ่านแดนตามเส้นทางที่สะดวกที่สุด เป็นต้น

 

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร

 

สำหรับปริมาณการนำผ่านน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียผ่านไทยไปยังประเทศที่สาม ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2562-2564) เฉลี่ยอยู่ที่ 22,480 ตันต่อปี โดยเป็นการนำผ่านฯ ไปยัง สปป.ลาว เฉลี่ยที่ 1,311 ตันต่อปี คิดเป็น 5.83% ของปริมาณการนำผ่านน้ำมันปาล์มทั้งหมด สำหรับปี 2564 มีปริมาณการนำผ่านน้ำมันปาล์ม รวมทั้งสิ้น 11,796 ตัน โดยเป็นการนำผ่านฯ ไปยัง สปป.ลาว จำนวน 258 ตัน คิดเป็น 2.19%

 

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านแดน สปป.ลาว ไปยังจีนของไทย ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2562-2564) เฉลี่ยอยู่ที่ 86,380 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 48,596 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 56.26%

 

ทุเรียน

รองลงมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฉลี่ยที่ 23,790 ล้านบาทต่อปี และลำไยแห้ง เฉลี่ยที่ 5,258 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านด่านศุลกากรนครพนม ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรเชียงของ และด่านศุลกากรเชียงแสนมากสุดตามลำดับ

 

 ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และป้องกันไม่ให้ สปป.ลาวใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับการกำหนดด่านนำผ่านของไทย ซึ่งขัดกับพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ จึงเห็นควรพิจารณาตามข้อเสนอของ สปป.ลาว และให้กระทรวงพาณิชย์ออกหนังสือรับรองต่อไป

 

 หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3756 วันที่ 10 – 12 กุมภาพันธ์  2565