เจ้าสัวคีรี จี้บิ๊กตู่ อีอีซีล่าช้าทำโปรเจ็กต์ "อู่ตะเภา"มีความเสี่ยง

12 ก.พ. 2565 | 00:23 น.

เจ้าสัวคีรี บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเนล เอวิเอชั่น ร่อนหนังสือถึงบิ๊กตู่ ปมอีอีซีล่าช้า จ่อทำโครงการอู่ตะเภาและเมืองการบินมีความเสี่ยง หลังไฮสปีด3สนามบิน ติดหล่มเวนคืน ชี้เร่งสร้างความเชื่อมั่นเหตุต้องระดมทุนจากต่างประเทศ

 

 

 

ความล่าช้าในขั้นตอนดำเนินโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ นอกจากการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)เชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)แล้วยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ภาคเอกชนผู้รับสัมปทานไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้

 

ล่าสุด เมื่อวันที่11กุมภาพันธ์2565 เฟซบุ๊กเพจ สนามบินสุวรรณภูมิ Suvannaphumi Airport เผยแพร่ หนังสือที่มีการลงนามจาก นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเนล เอวิเอชั่น จำกัด ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ระบุว่าโครงการสนามบินอู่ตะเภา

 

ที่มีการประมูลหาเอกชนมาดำเนินโครงการ ได้มีการระบุตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสาร และตัวเลข ที่ภาคเอกชนใช้ในการคำนวณความเป็นไปได้ของโครงการ แต่เมื่อมีผู้ชนะการประมูล นั่นคือ กลุ่มบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเนล เอวิเอชั่น จำกัด และ ต้องมีการระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อมาดำเนินการ ซึ่งต้องมีความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

ทั้งนี้ในจดหมายฉบับดังกล่าว ระบุถึง การมีข่าวในสื่อที่กล่าวถึงโครงการของรัฐบาล เช่น การขยายส่วนต่อขยายของสนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง ที่นอกเหนือจากที่ระบบไว้ในสัญญาร่วมลงทุน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชนในโครงการสนามบินอู่ตะเภา ทำให้เกิดความเสียหาย

 

โครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาแก้ปัญหา เพราะวาดภาพฝันก่อนเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน กับตัวเลขของจริง บวกกับสถานการณ์โควิด ทำให้ห่างไกลราวกันฟ้ากับดิน แต่รัฐจะปล่อยให้เอกชนถูกลอยแพเพียงลำพังได้หรือ อีอีซี คือ เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น การเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังคือบทบาทที่สำคัญของภาครัฐ

จากข่าวดังกล่าวทำให้น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งว่า หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นโครงการอีอีซีทั้งระบบ เนื่องจากมีหลายโครงการ ทั้งในโครงการอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการมาบตะพุด ในขณะที่ยังไม่เกิดแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ

เจ้าสัวคีรี จี้บิ๊กตู่ อีอีซีล่าช้าทำโปรเจ็กต์ "อู่ตะเภา"มีความเสี่ยง

จะทำให้เกิดความล่าช้า และ นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อทุกโครงการในอีอีซีทั้งนี้ 4 โครงการหลักในอีอีซี ได้แก่ โครงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีมูลค่าการลงทุน 654,921 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนลงทุนลงทุนสูงถึง 416,080 ล้านบาท (64%) เพื่อให้ได้ข้อสรุป ภาครัฐต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหาให้กับสนามบินอู่ตะเภา

 

โดยต้องเอาจริงเอาจังกับโครงการอีอีซีให้มากขึ้น หากยึดแนวทางรัฐร่วมเอกชนแบบ PPP โดยร่วมกันแก้ปัญหา มองเป้าหมายของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง เชื่อมั่นว่า จะหาทางออกได้อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อวันที่19 มิถุนายน2563 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบไปด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระบุว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสําคัญของ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

 

นอกจากนี้โครงการฯ จะทําให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออกที่ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตรโดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง)

 

เป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสําคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ํา ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

 

ขณะพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าโครงการที่มีความคืบหน้า ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องจากการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลแรกที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เริ่มโครงการ จนมาถึงวันนี้

 

มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี มาขับเคลื่อนต่อ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของ EEC ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคต่อไป