พาณิชย์เดินหน้าดันจันทบุรีมหานครแห่งอัญมณีเพิ่มยอดขายในตลาดโลก

05 ก.พ. 2565 | 05:40 น.

พาณิชย์เดินหน้าดันจันทบุรีมหานครแห่งอัญมณีเพิ่มยอดขายในตลาดโลก จุรินทร์ เผยอุตสาหกรรมอัญมณีปีที่ผ่านมามูลค่าการค้ารวมถึง 200,000 ล้านบาท โดย 80% เป็นการค้าเพื่อการส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการจัดงาน เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 เพื่อจุดประกายสำคัญที่ทุกภาคส่วนในจันทบุรีต้องสร้างความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เส้นทางถนนตลาดพลอยมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

 

ทั้งนี้ ตัวเลขอุตสาหกรรมอัญมณีปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวมถึง 200,000 ล้านบาท โดย 80% เป็นการค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตในปีที่แล้วที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด บวกถึง27% เป็นลมหายใจของจันทบุรีและประเทศ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นลมหายใจของเศรษฐกิจฐานราก เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีของไทย 90% เป็น SMEs และ Micro SMEs 
 

ก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 1,000,000 คน กระจายไปทั่วประเทศ การที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนกับภาคเอกชนและทุกหน่วยงานถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างยิ่ง โดยงานดังกล่าวจะจัดไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

 

สำหรับกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นกระทรวงที่เชี่ยวชาญที่สุดกระทรวงหนึ่งของโลกเพราะเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมทางการตลาดในยุคโควิดที่เรียกว่าระบบ ไฮบริดนำระบบการค้าขายดั้งเดิม กับระบบออนไลน์ มาร่วมกัน ซึ่งได้มีการตั้งเป้าไว้หลาย 10 ล้านบาท ที่จะสามารถทำสัญญาซื้อขายจริงและจะเพิ่มอีกทั้งปี

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  

 

ส่วนปีที่ผ่านมาทั้งปีสูงถึง 200,000 ล้านบาท หวังว่าการจัดงานเทศกาลพลอยนานาชาติครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่จะช่วยให้จันทบุรีเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนไปได้อีกหลายรอบต่อไป 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ได้มีการเปิดถนนค้าพลอยนานาชาติจันทบุรี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้ถนนสายนี้เป็นถนนที่มีความต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์การผลิตและการค้าพลอยตั้งแต่อดีต ช่วยต่อยอดให้กลายเป็นถนนที่เป็นตลาดค้าพลอยของโลกที่มีมาตรฐานเป็นสากล 

 

และมีความทันสมัยด้วยระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะไปเชื่อมกับตลาดต้องชมที่ขนานอยู่ริมแม่น้ำ จะกลายเป็นเส้นทางค้าขายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและเส้นทางเศรษฐกิจเส้นพิเศษของจันทบุรีที่จะมีความถาวรต่อไป

 

" งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021-2022 ปีนี้ เกิดได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของโลก และในงานนี้มีการจัด OBM (Online Business Matching ) เพื่อเชื่อมผู้ซื้อและผู้ขาย"

 

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ นโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นนครอัญมณีหนึ่งใน ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก (Chanthaburi: City of Gems) 

 

เพื่อตอกย้ำตำแหน่งและภาพลักษณ์ของจังหวัดในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยที่สำคัญของโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่จะ ได้นำเสนอสินค้า และเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ 

 

 

ดันงจันทบุรีเป็นมหานครแห่งอัญมณี

 

 

โดยทางสถาบันได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดให้มี Online Business Matching จับคู่ 102 คู่เจรจากับลูกค้าใน 16 ประเทศ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีจุดจัดงานหลัก 3 แห่ง คือ 1.ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ,2.เคพี จิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และ 3.บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์ 

 

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า งานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการผลักดันความเป็น นครอัญมณี ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกให้เป็นรูปธรรมแล้ว ยังจะเป็นการกระตุ้นฟื้นฟูการค้าอัญมณ์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการท่องเที่ยวในเทศกาลตรุษจีน 

 

และงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จึงคาดว่า ประชาชนที่มาท่องเที่ยว ในเทศกาลดังกล่าว จะได้เข้าร่วมงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และภาคการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดต่อไป

 

ด้านผู้ประกอบการจาก ร้าน TAEVIKA เทวิกา ควีนส์ออฟ จิวเวลรี่ นางณัฐชยา มณีเวศย์วโรดม ทายาทเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ TAEVIKA และ TAEVIKA PARK กล่าวว่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถไปออกบูธที่กรุงเทพฯได้ โดยปกติแล้วจะออกบูธสี่ครั้งและต่างประเทศก็มีฮ่องกงสามรอบ

 

และเมื่อเจอผลกระทบแบบนี้ก็หาช่องทางอื่นๆ จึงเริ่มไลฟ์สดซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยโควิดรอบแรก ซึ่งค่อนข้างได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมารายรับของเทวิกา 90% มาจากช่องทางออนไลน์ รายรับได้ 90% อีก 10 % เป็นส่งออกต่างประเทศ ส่วนใหญ่ส่งออกบราซิล รัสเซีย อิตาลี อเมริกา ฝรั่งเศส จีน