เตือน! โอมิครอนในไทยพุ่ง 2-4 เท่าใน 2 สัปดาห์หากไม่ป้องกันให้ดี

05 ก.พ. 2565 | 05:07 น.

เตือน! โอมิครอนในไทยพุ่ง 2-4 เท่าใน 2 สัปดาห์หากไม่ป้องกันให้ดี หมอธีระชี้การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง แนะใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

5 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 391 ล้านไปแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,774,373 คน ตายเพิ่ม 10,092 คน รวมแล้วติดไปรวม 391,121,692 คน เสียชีวิตรวม 5,741,695 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา บราซิล และรัสเซีย 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 87.79% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 83.83%

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 53.82% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 33.79%
 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

สถานการณ์เอเชีย

 

ล่าสุดมี 3 ประเทศที่ติดเชื้อใหม่เกินแสนคนต่อวัน คือ อินเดีย ตุรกี และญี่ปุ่น ในขณะที่อีก 7 ประเทศอยู่หลักหมื่น 

 

แต่ไทยนั้นหากรวม ATK ด้วย ถือว่าเห็นเกินหมื่นมาตั้งแต่ช่วงกลางมกราคมมาเรื่อยๆ

 

จับตาโอมิครอนในไทยพุ่ง 2-4 เท่า

 

 

ดูธรรมชาติการระบาดของ Omicron (โอมิครอน) ประเทศทั่วโลกมักมีกราฟการระบาดที่ขึ้นชันเหมือนหรือคล้ายกัน 

 

แม้บางประเทศจะดูยั้งๆ ในช่วงแรก แต่สุดท้ายพอเข้าสู่ช่วงอัตราเร่ง ก็จะเหมือนประเทศอื่นที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และลงเร็วในอัตราพอกัน
 

ดังที่เคยประเมินไว้ว่า เอเชียเริ่มช้ากว่าทวีปอื่น เราจึงเห็นว่าตอนนี้ทวีปอื่นเข้าสู่ขาลงไปแล้ว ทั้งแอฟริกา อเมริกา ยุโรป แต่ทวีปเอเชียหลายต่อหลายประเทศยังขึ้นต่อเนื่อง

 

สำหรับไทยเรานั้น การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง ถ้าเราเป็นเหมือนภาพของทั่วโลก คาดว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันอาจสูงกว่านี้ไปได้อีก 2-4 เท่าหากไม่ป้องกันให้ดี โดยมีช่วงเวลาทีต้องเฝ้าระวัง จับตาดูราวสองสัปดาห์

 

ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกัน

 

เรื่องที่เราควรตระหนักและระวังให้มากคือ ปัญหาภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID