”เจ้าท่า” เร่งฟื้นฟูสกัดน้ำมันรั่วมาบตาพุด คืบหน้าถึงไหนแล้ว เช็คเลย

04 ก.พ. 2565 | 08:36 น.

“เจ้าท่า” เร่งเจ้าหน้าที่เก็บกู้น้ำมันรั่วมาบตาพุด ยันไม่พบคราบน้ำมันเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เตรียมฟื้นฟูระบบนิเวศ-สิ่งแวดล้อม เตรียมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ลุยเอาผิดเอกชนหลังผิดพ.ร.บ.เดินเรือฯ

นายภูริพัฒน์  ธีระกุลพิศุทธิ์  รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีน้ำมันรั่วกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเก็บกู้น้ำมันในทะเล  จากการตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศ และการนำเจ้าหน้าที่ออกตรวจเรือทางทะเล รวมทั้งการใช้อากาศยานบินของกองทัพเรือและการใช้โดรนของสำนักเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พบว่าเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาไม่มีคราบน้ำมันในทะเลแล้ว ส่วนของคราบน้ำมันบนชายหาดทะเลบริเวณหาดแม่รำพึงมีลักษณะคราบน้ำมันเล็กน้อย ซึ่งมีการดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ ไม่ได้มีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขณะที่บริเวณในทะเล ทางกรมฯได้สั่งให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณใต้ทะเล ซึ่งไม่พบคาร์บอนและคราบน้ำมันแต่อย่างใด

 

 

 

“ส่วนปริมาณน้ำมันรั่วกลางทะเลกี่ลิตรนั้น เบื้องต้นกรมได้มีการหารือร่วมกับคณะทำงานของศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนจากคณะทำงานที่มีผู้ว่าจังหวัดระยอง ซึ่งเป็น 1 ในคณะทำงานเพื่อหารือถึงข้อเท็จจริงปริมาณน้ำมันที่รั่วออกไป  ที่ผ่านมามีการแจ้งว่าปริมาณน้ำมันรั่วกลางทะเล ราว 4 แสนลิตร ซึ่งเป็นการกำหนดในลักษณะยกระดับควบคุมพื้นที่สูงสุดเท่านั้น”

นายภูริพัฒน์  กล่าวต่อว่า หลังจากมีการตรวจสอบน้ำมันรั่วแล้วเสร็จ ทางกรมฯจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นกรมได้ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูและเยียวยาตามกรอบแผนการขจัดคราบน้ำมันแห่งชาติ โดยมีนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ทางทะเลบางส่วนแล้ว หลังจากนั้นจะมีการประเมินเพื่อเอาผิดเอกชนในกรณีที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่ว ซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบและเยียวยา เนื่องจากก่อมลพิษทางทะเล

 

 


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ทางกรมฯได้แจ้งดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดี โดยจะมีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุเพื่อประกอบการฟ้องร้องต่อไป เบื้องต้นกรมฯได้ฟ้องร้องในกรณีที่ที่เอกชนมีการทำน้ำมันรั่วลงทะเล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกรณีที่มีการชดเชยค่าเสียหายและฟื้นฟูเยียวยาต้องดำเนินการจ่ายชดเชยให้แก่กรมฯด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 119 ทวิของพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย
 

“ส่วนกรมฯจะเรียกร้องค่าเสียหายกับเอกชนเท่าไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากเราอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเสียหายทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง”