"วราวุธ"แจงสภาฯปมน้ำมันรั่วที่ระยอง ยันไม่ป้องเอกชน

03 ก.พ. 2565 | 09:04 น.

"วราวุธ" แจงกระทู้สด ก้าวไกล สปมน้ำมันดิบรั่วลงทะเลในพื้นที่มาบตาพุ จ.ระยอง ยันไม่ปกป้องเอกชน พร้อมจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ด้าน"เบญจา"ซัด "วราวุธ" รักป่า รักทะเล แต่ไม่รักประชาชน

วันที่ 3 ก.พ.65 ที่รัฐสภา  มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ในช่วงกระทู้ถามสด น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อการแก้ปัญหาน้ำมันดิบรั่วลงทะเล พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ของบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบคำพูดของ 2 รัฐมนตรี  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ให้สัมภาษณ์ในวันเกิดเหตุว่า ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน ซึ่งตนมองว่าเป็นการปกป้องบริษัทเอกชน และไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ อีกทั้งพบว่าการให้ตัวเลขปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมีปริมาณลดลงจากระดับแสนลิตร เหลือหมื่นลิตร
 

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

นายวราวุธ ชี้แจงกระทู้สดดังกล่าวว่า น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นจากท่อที่เชื่อมกับทุ่นน้ำมัน และเกิดขึ้นในเวลากลางคืน จึงไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้ขนถ่าย ดังนั้นต้องอาศัยบริษัทที่ให้ข้อมูล ส่วนที่บอกว่าตนไม่สามารถรักษาผลประโยชน์นั้น จากการลงพื้นที่ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเป็นเพียงแผ่นฟิล์มบางๆ ไม่เหมือนกับน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ที่อ่าวพร้าว อย่างไรก็ดีตนฐานะรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญต้องไม่สร้างความตระหนก ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสาธารณะ และจากข้อมูล เมื่อ 2 ก.พ. ตรวจพื้นทะเลพบว่าปะการังมีสภาพสมบูรณ์ และจะตรวจทุกระยะ โดยตนยืนยันไม่มีทางที่จะปกป้องบริษัท และจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ปัญหา

 

“ผมรักผมหวงผืนป่า รักษาทะเลขนาดไหน จากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ลงพื้นที่ ไม่พบคราบน้ำมันที่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะน้ำมันกระจาย แตกตัวลงสู่ทะเล ป้องกันคราบน้ำมันขึ้นหาดที่อ่าวพร้าว แม่รำพึง ได้ หรือที่ขึ้นได้ซับคราบและนำไปกำจัด และป้องกันอีกหลายจุด” นายวราวุธ ชี้แจง


 

ทั้งนี้ น.ส.เบญจา ตั้งคำถามด้วยว่า ตนไม่ผิดคาดกับคำชี้แจงของนายวราวุธ ที่บอกว่ารักทะเล รักธรรมชาติ แต่ไม่มีคำว่ารักประชาชนหรือดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ตนขอทราบการประกาศภัยพิบัติในพื้นที่ โดยนายวราวุธ ชี้แจงว่า ตนขอถามว่ามีสิ่งที่ตนพูดไม่จริงตรงไหน เพราะข้อมูลที่ได้มาจากจังหวัดและบริษัท ที่บอกว่าไม่เคยรักประชาชนนั้น เข้าใจผิด ที่ตนรักป่า รักทะเล ดูแลธรรมชาติ ไม่ใช่ดูแลเพื่อใคร แต่เพื่อคนไทย 67 ล้านคน ตนขอฝากบอก ส.ส.ว่า การดูแลธรรมชาติและทรัพยากร ทำเพื่อมนุษย์หากไม่มีทรัพยากร มนุษย์ได้รับผลกระทบ ส่วนการประกาศเขตภัยพิบัติที่จังหวัดประกาศ ตนยังไม่ได้รับรายงานล่าสุด แต่จากการลงพื้นที่ประชาชนพอใจระดับหนึ่ง

 

ส่วนคำถามสุดท้าย น.ส.เบญจา ตั้งถามว่า ข้อเท็จจริงที่พูดตรงไปตรงมาหรือไม่ เมื่อตอบแบบนี้ ต้องการตั้งคำถามกับนายกฯ ที่กำกับหลายกระทรวงกับภัยพิบัติ เมื่อส่งมาตอบ ไม่ได้รับคำตอบถูกต้องชัดเจน เมื่อรมว.ไม่ทราบ ฝากให้รีบรับรายงานจากจังหวัดเพราะประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสมาก กับคำถามสุดท้ายมีบทเรียนปี 2556 ใช้สารเคมีเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ขอทราบจำนวน และจะกลายเป็นสารปนเปื้อนตกค้างในทะเลและกระทบต่อจำนวนสัตว์น้ำระยะยาว และก่อเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะการใช้สารเคมีเคยมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล และกระทบกับระบบนิเวศน์ ธรรมชาติ และชาวประมง ไม่ใช่แค่ควบคุมสถานการณ์ ควรต้องชดเชยผลกระทบในระยะยาวให้เป็นธรรม รวมถึงแผนฟื้นฟูธรรมชาติ ทั้งสัตว์ทะเล ชายฝั่ง แผนป้องกันภัยพิบัติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

นายวราวุธ ชี้แจงว่า สารที่ใช้กำจัดน้ำมัน มีองค์ประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่สามารถรวมตัวกับน้ำ และรวมกับน้ำมันได้ เมื่อสารควบรวมแล้วจะทำให้น้ำมันแตกตัวลงระดับที่ตาเปล่ามองไม่เห็นทำให้จุลินทรีย์ในทะเลกัดกินก้อนน้ำมันขนาดเล็ก 1-2 เดือนและย่อยสลาย ระยะยาวนั้นจะเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ จะขอสอบถาม แต่เบื้องต้นสารที่ใช้ปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะเป็นฟู๊ดเกรด ไม่ต่างจากน้ำยาล้างจานที่ใช้ใสครัวเรือน โดยใช้สารดังกล่าวไป 8.5 หมื่นลิตรกับปริมาณน้ำมันดิบรั่ว 5 หมื่นลิตร เพราะต้องใช้สารฉีดดักไว้ก่อน