มหาดไทย ถก ผู้ว่าฯ ซักซ้อมแนวทางบังคับใช้ ก.ม.ป้องกันกักตุนฯ

02 ก.พ. 2565 | 07:50 น.

มหาดไทย ซักซ้อมแนวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ร่วมกับ ผู้ว่าฯ - นายอำเภอทั่วประเทศ เน้นย้ำบังคับใช้ก.ม.กับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบประชาชน

2 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นประธานการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497

 

นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย ปลัดจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมประชุม

นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกประกาศกำหนดให้เนื้อสุกร หรือโภคภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เนื้อไก่สด ไข่ อาหารทะเล เนื้อวัว น้ำมันพืช ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค ฯลฯ ซึ่งมีปัญหาการกักตุนหรือเกิดภาวการณ์ขาดแคลนโภคภัณฑ์ในท้องตลาดอย่างผิดปกติ

 

เป็นโภคภัณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะทำการสำรวจฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ และดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ โดยเคร่งครัด

นายชยาวุธ จันทร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเนื้อสุกรและสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดที่มีราคาสูงขึ้น โดยกำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตท้องที่จังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และกำชับนายอำเภอและพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกสำรวจการกักตุนตามที่เห็นสมควร

 

โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้แจ้งการสำรวจผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรและจำนวนสุกรที่เลี้ยงไว้ให้กรมการปกครองทราบ ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่หลายจังหวัดได้มีการออกประกาศ เรื่อง การแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บโภคภัณฑ์ และห้ามยักย้ายโภคภัณฑ์ออกจากสถานที่เก็บหรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์ เพื่อใช้บังคับแล้ว

 

ผู้แทนกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเข้าไปดำเนินการ ได้แก่ สุกร เนื้อสุกร ไก่ ไข่ โดยได้กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว และมีมาตรการ เช่น การห้ามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงการกำหนดให้สินค้าทุกชนิดต้องมีการติดป้ายราคา และห้ามจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการตัดสินใจซื้อด้วย

 

ผู้แทนกรมปสุสัตว์ กล่าวว่า กรมปสุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบห้องเย็นสินค้าปสุสัตว์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสำรวจปริมาณสุกรในประเทศ การเคลื่อนย้ายภายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัดจะต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากสงสัยว่าเนื้อสุกรหรือเนื้อไก่ไม่มีแหล่งที่มาหรือไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจยึดหรืออายัดได้

 

ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการสั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบสถานที่เก็บเนื้อสุกรและสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ หากพบการกระทำความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงมีการสืบสวนเชิงลึกเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสุกรในพื้นที่ชายแดน การตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันการกระทำผิดตามกฎหมายด้วย

 

นายชยาวุธ จันทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติงานพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินงานอย่างเคร่งครัดภายใต้กรอบของกฎหมาย และให้แนวทางการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกันและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และให้มีการประชาสัมพันธ์ประกาศต่าง ๆ ของเขตท้องที่จังหวัดให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้

 

รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนถูกฉกฉวยโอกาสหรือเอารัดเอาเปรียบได้ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นหรือมีเบาะแสการกักตุนโภคภัณฑ์ตามประกาศในพื้นที่ สามารถแจ้งผ่านศูนย์ดำรงธรรม โทร.1567 หรือสายด่วนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โทร.1569 ได้ทันที