ผู้เลี้ยงไก่ไข่ โวย “จุรินทร์” ทำขาดทุนยับ ทำไมไม่เบรกราคาอาหารสัตว์บ้าง

10 ม.ค. 2565 | 13:43 น.

2 นายก สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ โวย “จุรินทร์” ทำเกษตรกร เจ๊ง ขาดทุนยับ หวังว่าจะได้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 3.20 บาท/ฟอง พอเลี้ยงชีพ ตรึงราคา 6 เดือน ไม่เห็นด้วย “สุเทพ” แจงยิบ รอบ 1 ปี ราคาอาหารสัตว์ปรับขึ้น 12 ครั้ง ส่วนปี 2565 ผ่านมา 10 วัน ปรับราคาขึ้นมา 2 ครั้ง แล้ว ยุติธรรมหรือไม่

วันที่ 10 มกราคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้มีมติเห็นชอบสั่งเบรกการขึ้นราคาไข่ไก่ และเนื้อไก่  โดยกรมการค้าภายใน กำหนดให้ตรึงราคาไข่คละหน้าฟาร์มไว้ที่ฟองละ 3 บาท/ฟอง เป็นเวลา 6 เดือน  และให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบฉวยโอกาสขึ้นราคาให้ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค 

 

ทั้งนี้  หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ก็ให้ทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี  เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างดูแลประชาชนผู้บริโภค และเกษตรกรรายย่อย

 

สุเทพ สุวรรณรัตน์

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  นโยบายอย่างนี้เกษตรกรเจ๊งอย่างเดียว ตอนนี้อยากจะขายฟาร์มก็ไม่รู้จะไปขายใคร เป็นเวรกรรมของผู้เลี้ยงไข่ไก่ เพราะอาหารสัตว์ขึ้นไม่หยุดเลย แล้วอย่างนี้เกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร แล้วตอนนี้ก็มีแต่รายใหญ่  เหมือนหมู เลย รายย่อยเจ๊งหมดแล้ว รัฐบาลไม่ดูแล

 

“รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด กลัวผู้บริโภครับประทานแพง ก็จะต้องทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน ต้องทำไปพร้อมกันให้ได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็เกษตรกรเช่นเดียวกัน เราต้องพึ่งพากันและกัน ไม่ใช่อยู่มาเบรกผู้เลี้ยงไก่ไข่ พอขาดทุนก็อยู่ไม่ได้ ต้องเจ๊ง คุณก็รู้ว่าอาหารสัตว์ปรับขึ้นมาเท่าไร แล้วผู้เลี้ยงจะอยู่ได้อย่างไร แล้วนำไข่ไก่ไปส่ง ค่าน้ำมันก็ แพงอีก น้ำมันวันพรุ่งนี้ก็ปรับขึ้นราคาอีกแล้ว แล้วเกษตรกรไม่ใช้น้ำมันหรืออย่างไร ไฟฟ้าก็ขึ้น พอไข่ไก่จะขึ้นแค่ 20 สตางค์วุ่นวาย"

 

นายสุเทพ กล่าวว่า ผมไม่เข้าใจเลยจะอยู่อย่างไรประเทศไทย แล้วจะมาหาว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เอาเปรียบ ไอ้คนที่พูดอยากให้ไปเลี้ยงไข่ไก่ดูว่าเป็นอย่างไร ราคาอาหารสัตว์มาขนาดนี้แล้ว ไม่ดูแลเกษตรกรเลย ไม่เคยดูแลเลย คิดดู แค่ปี 2564 ราคาอาหารสัตว์ ปรับขึ้น มากกว่า 12 รอบ  และแค่ปี 2565 ผ่านมา 10 วัน ปรับราคาขึ้นมาใหม่อีก 2 รอบ รวมแล้ว เป็น 14 รอบ ที่ผ่านมาเกษตรกรก็ทนมานานเหลือเกิน เพราะคำเดียว คือ เห็นแก่ผู้บริโภค แต่ตอนนี้ทนไม่ไหวจริงๆ ต้องเดินหน้า

 

“มาตรึงราคาแบบนี้ ไม่รู้จะนำเงินที่ไหนไปจ่ายค่าอาหารที่ผ่านมาเป็นหนี้ ขอความร่วมมือ ก็ให้ความร่วมมือมาตลอด แล้วถ้าให้ความร่วมมืออย่างเดียว เจ๊งอย่างเดียว เกษตรกรจะอยู่ไม่ได้ แล้วถ้าหากจะจับ ก็ต้องยอมให้จับ เกษตรกรก็ต้องไปร้องเรียนทำอย่างไรได้ เพราะไม่ไหวแล้ว ลำบากกันหมด เหนื่อย”

 

พเยาว์ อริกุล

 

เช่นเดียวกับนางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยกับมาตรการสั่งเบรกขึ้นราคาไข่ไก่ ให้ตรึงอยู่ที่ 3 บาท/ฟอง เป็นระยะเวลา 6 เดือน และวันนี้คุณจุรินทร์ ได้เรียกประชุมกะทันหัน แล้วก็ได้แจ้งกับตัวท่านแล้วว่าราคาไข่ไก่กับวัตถุดิบอาหารสัตว์ สวนทางกัน เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรก็พูดมาตลอดว่าแบกรับต้นทุนมาตลอด ราคาอาหารสัตว์ขึ้นมา

 

"วันนี้ (วันที่ 10 มกราคม 2565) ก็ขึ้นมาอีก 6 บาท/กก. จากเดิม 12 บาท/กก. วันนี้ราคาใหม่ กว่า 14 บาท/กก. ซึ่งได้แจ้งว่า ราคาไข่ไก่อย่ามาอ้างเรื่องหมู เลย เพราะอยู่ปกติอยู่แล้ว ส่วนต้นทุนสูงเพิ่มขึ้นมา เราไม่ได้คิดที่จะขยับราคาสูงมากขอแค่ให้เกษตรกรอยู่ได้ ช่วงภาวะที่ราคาพอไปได้ แล้วก็แค่จะขึ้นปรับราคามาวันนี้เอง เหมือนเอากระแสปรับราคาไข่ไก่มาพ่วงราคาหมูได้อย่างไร"

 

ตอนนี้ราคาก็อยู่แค่ 3 บาท/ฟอง ยังไม่ได้พ้น 3 บาทเลย ฟังแล้วรู้สึกจุก พูดไม่ออกเลย ว่าคืออะไร ถ้าถามว่าเกษตรกรเดือดร้อนไหมหากมีนโยบายออกมาแบบนี้ ตอนนี้เดือดร้อน เพราะต้องแบกภาระหนี้สิน เพราะช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ให้ตรึงราคาเพดานไม่เกิน 3 บาท แต่ราคาอาหารสัตว์ปรับขึ้นมาตลอดเลย พอพูดในลักษณะนี้คนในที่ประชุมโต้แย้งหาว่าเป็นเรื่องเก่า

 

"แต่ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน คุณบังคับเกษตรกรไม่ให้ขึ้นราคาได้ แต่ทำไมคุณไม่สามารถบังคับนายทุนไม่ให้ขึ้นราคาอาหารสัตว์ไม่ได้ ต่อไปต้องขอราคาประกันราคาไข่ไก่ เช่นเดียวกับประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่คุยกันในขณะนั้นราคาอาหารสัตว์ต้นทุนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 12 บาท ต้นทุนไข่ไก่ อยู่ที่ ฟองละ 2.74 บาท"

 

นางพเยาว์  กล่าวว่า ในตอนนั้นเราก็บอกว่าไม่เกิน 3 บาท/ฟอง ยอมช่วยเหลือผู้บริโภคมาโดยตลอด คุยกับกรมการค้าภายใน ก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด ตอนนั้นมีช่วงภาวะไข่ขาดแคลน เราก็ไม่ปรับราคากัดฟันไม่เกิน 3 บาท/ฟอง ตั้งแต่ปี 2564 ภาวะอาหารสัตว์ก็ขึ้นมาโดยตลอด ทุกคนก็รับทราบขึ้นครั้งละ 20 สตางค์ ปรับมาราคาไข่ไก่ก็ยืนคงเดิม แล้วตอนราคาประกาศ 2.80 บาท ก็ขายไข่ไก่คละได้ 2.50-2.60 บาท/ฟอง ก็ไม่เป็นไปตามราคาประกาศ

 

ทุกคนต้องแบกภาระต้นทุนทั้งนั้น พอภาวะช่วงนี้มีช่วงเทศกาลปีใหม่ สถานการณ์พอเป็นไปได้ พอเราจะขยับขึ้นราคาก็มาอ้างตรงนี้อีก ว่า “ไข่แพง” และ “หมูแพง”  ก็อึดอัดกัน เกษตรกรตอนนี้ขาดทุนกัน เพราะไม่ได้ขายไข่ไก่คละ ตามราคาประกาศของสมาคม แล้วตอนนี้ราคาประกาศ 3 บาท/ฟอง ก็ขายไม่เกิน 2.80 บาท/ฟอง ไม่ได้ขายได้ราคาแพงเลย  ส่วนราคาที่ขายกันนั้นเป็นราคาที่พ่อค้าไปกินกำไรกัน นั่นใช่  แผงละ 120-130 บาท นั่นใช่ เป็นช่วงที่ผู้ค้าไปขายในท้องตลาด แต่ผู้เลี้ยงไม่ได้ราคาตามนั้นเลย

 

นางพเยาว์ กล่าวว่า  มาตรการนี้โหดมาก เลยบอกในที่ประชุมว่า ถ้าให้เกษตรกรยืนราคา 6 เดือน  ท่านช่วยไปบอกนายทุนหน่อยว่าคุณอย่าขึ้นราคาค่าอาหาร แล้วก็ปรับลดราคาค่าอาหารให้รับกับราคาไข่ไก่ที่เราต้องจ่ายค่าอาหาร เพราะทุกวันนี้เกษตรกรเป็นหนี้ค่าอาหาร ขายไข่ไก่ก็ไม่พอใช้หนี้ ไม่มีเงินจะลงแม่ไก่ใหม่ พันธุ์สัตว์ไม่ได้ขาดแคลน แต่ขาดเงินที่จะซื้อ นี่เป็นเรื่องจริงที่เกษตรกรเดือดร้อน แล้วท่านก็มาบีบราคาแบบนี้ไม่ให้เกษตรกรขายเกิน 3 บาท

 

“ตอนนี้เกษตรกรร้องไห้กัน พูดกันไม่ออก  หนี้สินที่เป็นอยู่ยังไม่ได้ใช้เลย เงินที่จะซื้อแม่ไก่ลงเลี้ยงใหม่ก็ไม่มี หากปล่อยให้ไข่ไก่คละอยู่ที่ 3.20 บาท ก็ยังดี เพราะเกษตรกรจะขายได้ราคา 3 บาท/ฟอง แล้วถามว่าภาวะแบบนี้เอาเรื่อง ไข่ไก่ กับ หมู มาโยงกัน พูดจาเกษตรกรรับแบบทั้งน้ำตา แล้วการซื้ออาหาร  จะต้องจ่ายตามข้อตกลงที่กำหนดแล้วถ้าไม่จ่าย ไม่โอนเงินก่อนก็ไม่ต้องมาเอาของ รถก็ไม่ของให้ ในสภาพการซื้อขายเป็นแบบนี่แล้ว เงินต้องจ่ายตามกติกา ตามกฎเกณฑ์ ถ้าเงินไม่จ่าย จะไม่ปล่อยอาหารออกจากโรงงานเลย บอกเลยว่าเกษตรกรพูดทั้งน้ำตา ตอนนี้คนที่เป็นแพะ ก็คือ “เกษตรกร” และ “กรมปศุสัตว์” 

 

แม่ไก่ไข่

 

นางพเยาว์ กล่าวในตอนท้ายย้ำว่า เราแบกรับต้นทุนมานาน จะขอขยับราคาอีกนิดเดียว ไม่ได้จะขยับสูงอะไรมาก คิดกันไว้ว่าขออีกสัก 20 สตางค์ ก็คือ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม  3.20 บาท/ฟอง เพื่อที่จะได้ขายไข่ไก่คละ 3  บาท เพราะราคาไข่ไก่ 3 บาท/ฟอง เกษตรกรก็ขายไข่ไก่คละ 2.80 บาท  ราคาประกาศวันแรก ที่เริ่มต้น ต้องหักค่าจัดการ ค่าขนส่งอีก เป็นแบบนี้ในการซื้อขาย ดังนั้นถ้าประกาศราคา ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม  3.20 บาท/ฟอง 20 สตางค์ก็จะถูกหักออกไปเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง เกษตรกรจะขายคละหน้าฟาร์มที่ 3 บาท/ฟอง ขอแค่นี้

 

“การที่กระทรวงพาณิชย์ จะให้ผู้ค้ารับซื้อราคาหน้าฟาร์ม ตามราคาประกาศ ที่ 3 บาท/ฟอง นั้น การันตีได้หรือไม่ แต่ในการซื้อขายจริง เราทราบว่าทำไม่ได้หรอก ต้องเข้าใจกันจริงๆ เกษตรกรเป็นผู้ที่เดือดร้อน  ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ช่วยไหม ก็ได้ช่วยให้เกษตรกรไปทำไข่ไก่ รถโมบาย แล้วข่วยส่วนหนึ่งเกษตรกรขายไข่ไก่ไม่ได้ราคา แล้วโดนกดราคา พาณิชย์กำลังช่วยอยู่”

 

"แต่วันนี้กระทรวงพาณิชย์บอกให้เราช่วยเค้าบ้าง แต่ไม่เป็นธรรมตรงที่ว่าราคาอาหารสัตว์ไม่ยอมลดลง ช่วยตรงนี้ไม่ได้ ช่วยบอกให้นายทุนไม่ต้องขั้นราคาอาหารสัตว์เราไม่ได้ ตรงนี้แหละที่เราแบกภาระค่าอาหารหนักมาก ต้องจ่ายเต็มตลอด ไม่จ่ายก็ไม่ได้ ไก่ต้องกินทุกมื้อ นี่เป็นเรื่องจริงจากเกษตรกรตัวจริง" 

 

ด้านแอพพลิเคชันกรุ๊ปไลน์ ของสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดุเดือด 

ร้องจ๊าก หล้งทราบข่าว ตรึงราคาไข่ไก่ 6 เดือน

 

เกษตรกร ระเบิดอารณ์