เปิดความจริง!! วงในคนเลี้ยงหมู รัฐเพิกเฉยไม่ยอมรับโรค ASF ระบาดในไทย

10 ม.ค. 2565 | 01:08 น.

สมคิด เรืองณรงค์ นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง เปิดความจริง !! วงในคนเลี้ยงหมู ระบุ ราคาหมูแพงส่วนหนึ่งเกิดจากโรคระบาดสัตว์เกิดจากการปิดข่าวของภาครัฐที่เพิกเฉยและไม่ยอมรับว่ามันคือโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ใจความสำคัญดังนี้

 

กระแสของราคาหมูแพงจากโรคระบาดสัตว์ที่หลายฝ่ายมองว่า เกิดจากการปิดข่าวของภาครัฐซึ่งเพิกเฉยและไม่ยอมรับว่ามันคือ ASF หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จนทำให้บานปลายกระทบปริมาณซัพพลายหมูในประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะหมูไม่พอต่อความต้องการและมีราคาสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน ความเสียหายดังกล่าว ทำให้ไทยต้องสูญเสียเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไปแล้วกว่า 50% แม้แต่ฟาร์มรายใหญ่ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เพียงแต่ด้วยระบบป้องกันโรคที่เคร่งครัดเข้มงวด จึงทำให้ยังสามารถรักษาปริมาณหมูของฟาร์มไว้ได้ ต้องเรียกว่าคนในแวดวงหมูเจ็บตัวกันทุกค

 

เปิดความจริง!! วงในคนเลี้ยงหมู รัฐเพิกเฉยไม่ยอมรับโรค ASF ระบาดในไทย

 

อันที่จริงทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยง ต่างก็ตระหนักและกังวลถึงโรคดังกล่าวตั้งแต่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน มีการศึกษาหาความรู้และแนวทางป้องกัน ผมได้เห็นคนในวงการนี้ช่วยกันคนละไม้ละมือ ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ สมาคม เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ ต่างร่วมแบ่งปันแนวทางและมาตรการต่างๆ กันอย่างเต็มที่ รายใหญ่หน่อยก็ลงแรงเยอะหน่อย รายกลาง รายเล็กก็ลดหลั่นกันลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ใหญ่ของวงการที่เดินสายยี่สิบจังหวัดทั่วภาคอีสาน ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่เกษตรกรโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นเกษตรกรลูกเล้าของบริษัทอื่นหรือไม่

 

 ที่สำคัญ ผมยังได้เห็นการเสียสละลงขันกันนับร้อยล้าน จากพี่ใหญ่ พี่รอง และฟาร์มแทบทุกฟาร์มในวงการ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่เจอโรคระบาดก่อนใคร โดยไม่รอเงินเยียวยาจากภาครัฐ มีแม้กระทั่งเฮียเจ้าของฟาร์มหมูในต่างจังหวัดที่ข้ามแดนไปเยียวยาเกษตรกรในประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อตัดตอนไม่ให้โรคระบาดข้ามแดนมาบ้านเรา

 

 

ผมจึงไม่สบายใจนักที่คนนอกวงการมองว่ารัฐปิดข่าวเพราะห่วงการส่งออกหมูซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์ และจะทำให้เกิดการเสียกำลังใจกัน ทั้ง ๆ ที่การประกาศข่าวหรือปิดข่าวไม่ใช่เรื่องของภาคเอกชนแต่เป็นเรื่องของภาครัฐ 100%

 

ในช่วงเวลาปกติ สินค้าเนื้อหมูเป็นสินค้าที่บริโภคกันในประเทศถึง 99% เนื่องจากไทยยังมีโรคปากเท้าเปื่อยในสุกรทำให้ส่งออกหมูดิบไม่ได้ จะส่งออกได้บ้างก็ต้องทำเป็นอาหารปรุงสุกซึ่งก็แค่ 1% ส่วนในช่วงเวลาที่หมูในประเทศมีราคาตกต่ำและหมูเพื่อนบ้านแพงมาก ก็จะมีโบรกเกอร์มาซื้อหมูมีชีวิตของไทยข้ามไปชายแดน ซึ่งก็เกิดขึ้นแค่ช่วงที่เพื่อนบ้านเจอ ASF และไม่ได้กระทบปริมาณหมูที่กินกันในบ้านเรา

 

ดังนั้น การเข้าใจผิดว่ารัฐปิดข่าวเพื่อเอื้อส่งออกจึงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก ส่วนที่สื่อบางสื่อระบุว่าในปีที่แล้วมีการส่งออกหมูไปเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่า 300% คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาทนั้น เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหมูที่ซื้อขายกันในประเทศ ไม่มีนัยยะที่จะต้องให้ความสำคัญเลย  

 

มาตรการรัฐที่ออกมาอ้างว่าห้ามส่งออกจึงเป็นมาตรการที่แทบไม่มีผลอะไร แต่สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายกลาง กลับมาผลิตหมูป้อนคนไทยให้เร็วที่สุด มาตรการสินเชื่อของ ธกส. ที่ออกมา รัฐได้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือไม่ สามารถสนับสนุนให้เขาสร้างฟาร์มไร้ดอกได้หรือเปล่า ทั้งยังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีก มีแนวทางและงบประมาณอย่างไร ทุ่มทุนวิจัยและส่งเสริมอย่างจริงจังขนาดไหน การจำกัดเฉพาะศูนย์วิจัยของรัฐคงไม่พอแต่ต้องเปิดกว้างที่สุด เพราะยังไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่คิดค้นวัคซีนตัวนี้สำเร็จ โปรดอย่าให้เป็นเพียงวาทกรรมเพื่อบรรจุลงในมาตรการเท่านั้น

 

อาชีพใคร ๆ ก็รัก ธุรกิจใคร ๆ ก็ต้องการรักษา ประเทศใคร ๆ ก็ต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้า เมื่อบ้านเกิดไฟไหม้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือดับไฟ ไม่ใช่การหาแพะหรือคนผิด ซึ่งสามารถรอให้ไฟดับแล้วค่อยไปสอบสวนสืบสวนกันต่อได้ ดังนั้น ในฐานะคนแวดวงนี้ จึงอยากขอให้ทุกคนหันมาร่วมกันฟื้นฟู ดีกว่าด่าทอกันซึ่งไม่เกิดประโยชน์ และที่สำคัญ ภาครัฐต้องหาวิธีดับไฟอย่างจริงใจและลงรายละเอียดอย่างระมัดระวัง 

 

ที่สำคัญ หวังว่ารัฐจะไม่แก้ปัญหาลวก ๆ ด้วยการนำเข้าหมูต่างชาติ ย้อนแย้งกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลับสู่อาชีพ เพราะจะทำให้ไม่มีเกษตรกรกล้าลงหมูเข้าเลี้ยงอีกเนื่องจากรู้ดีว่าหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างชาติได้ อีกประการหนึ่งที่สัตวแพทย์ประสานเสียงเตือนคือความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารตกค้างและเชื้อโรคอื่น ๆ ที่จะเข้ามาทำให้การแก้ปัญหาเรื่องโรคไม่รู้จบ การนำเข้าหมูจะกลายเป็นไฟลูกใหม่ที่พร้อมไหม้บ้านเราเองอีกครั้งในอนาคต   

 

ไทยมีจุดเด่นเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก มีผู้คนและภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตที่ยาวมาก วิกฤตโรคระบาดหมูครั้งนี้ทำให้เกษตรกรหายไปจำนวนมากแล้ว รัฐต้องเร่งฟื้นฟูพวกเขาให้กลับมา ไม่ใช่ฆ่าตัดตอนคนเลี้ยงหมูที่ยังเหลืออยู่ ให้มันจะกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ จนเกษตรกรพืชไร่และทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต รวมถึงผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบกันไปทั้งหมด