เร่งเคลียร์แผนฟื้นฟู ขสมก. แบกหนี้อ่วม 1.4 แสนล้าน

05 ม.ค. 2565 | 06:24 น.

“คมนาคม” สั่ง ขสมก.เดินหน้าแผนฟื้นฟูขสมก.จ่อดึงเอกชนจ้างวิ่งล็อตแรก 400 คัน คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนก.พ. 65 หลังคนร.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู ปี 62 เผยหนี้สะสมพุ่งแตะ 1.4 แสนล้าน

มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อเดือนกันยายน 2564 ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณารายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับเมื่อปี 2562 ว่า มีเรื่องใดที่สอดคล้องกันกับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ให้สามารถนำมาดำเนินการได้ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร,จ้างเอกชนวิ่งให้บริการตามระยะทางฯลฯ
 

 

   
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนพื้นฟูขสมก.  ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) โดยระหว่างนี้ ขสมก. เตรียมดำเนินการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการตามระยะทาง ใช้รถปรับอากาศใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม คาดว่า จะนำมาวิ่งให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565

 

 


รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขสมก.มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 600,000 คนต่อวัน หากยังคงใช้รูปแบบเดิม ต้องเสียค่าซ่อมบำรุง 10 ปี กว่า 30,000 ล้านบาท หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะทำให้มูลค่าหนี้สะสมเพิ่มขึ้นโดยปี 2563 มีหนี้สะสม 132,000 ล้านบาท ปัจจุบัน 140,000 ล้านบาท

 

 


แหล่งข่าวจากขสมก. ยํ้าว่า หากแผนฟื้นฟู ผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. เบื้องต้นขสมก.จะเริ่มทยอยรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ล็อตแรก จำนวน 400 คัน หลังจาก ครม.อนุมัติภายใน 3 เดือน จนครบ 2,511 คัน ภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยในปัจจุบัน ขสมก. มีรถวิ่งให้บริการอยู่ประมาณ 2,900 กว่าคัน ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ปลดระวางรถ จำนวน 70 กว่าคัน
 

สำหรับแนวทางแผนฟื้นฟู ขสมก. ประกอบด้วย

1. การจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดยขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน

 

 

2. ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bidding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาตํ่าสุด (ตํ่ากว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก. ซึ่งในการประชุมผู้ประกอบการรถเอกชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ไม่มีผู้ประกอบการรถเอกชนรายใด เสนออัตราค่าจ้างวิ่ง ในราคา 30 บาทต่อกิโลเมตร

 

 

 

3. รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานตํ่า EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม ที่มีการติดตั้งระบบGPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน

 

 

4.เส้นทางการเดินรถ ขสมก.ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 108 เส้นทาง ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของขสมก. และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และกลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมากและไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้

5.การบริหารหนี้สิน โดยขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ในปีงบ ประมาณ 2565-2571 ทั้งนี้รัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้สินทั้งหมด ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ ขสมก. จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ในปี 2572

 

เร่งเคลียร์แผนฟื้นฟู ขสมก. แบกหนี้อ่วม 1.4 แสนล้าน

 

6.การลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการในปี 2565 

 

 

 

7. การเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมสามารถแข่งขันได้ในอนาคต เหลือพนักงานเพียง 8,267 คน จากเดิมมีพนักงาน 13,961 คนทำให้มีพนักงานเกินกรอบโครงสร้างใหม่ โดยกำหนดให้ผลตอบแทน เป็นเงินตอบแทนพิเศษ  3 เท่าต่อปีของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามอายุงานที่เหลือ แต่ไม่เกิน 30 เท่า ของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย ,เงินตอบแทนความชอบจากการทำงาน เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ,เงินบำเหน็จตามข้อบังคับ ขสมก. (อายุงาน x อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอัตราสุดท้าย) ตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าทำงานจนถึงวันที่ ขสมก. มีคำสั่งให้เข้าโครงการฯ