นักเศรษฐศาสตร์ชี้ปี 65รัฐต้องผยุงเศรษฐกิจโต 3.9%

19 ธ.ค. 2564 | 08:07 น.

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้โจทย์ท้าทายปีหน้า “โควิด-สงครามการค้าและเงินเฟ้อ” แนะรัฐโฟกัสสร้างฐานรากให้แข็งแรง-กระตุ้นกำลังซื้อ” ผยุงเศรษฐกิจโต 3.9% รอนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี66

งานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์(TEA)  "ทางรอด 2022 Survival Guide" นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง อภิปรายในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565"  

 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคินภัทร โดยระบุว่า แนวโน้มปีหน้าธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไว้ที่ 3.9% บน2เงื่อนไข คือ  ไม่เกิดการระบาดของโควิดอีกรอบ และมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาบ้าง โดยคาดว่าจะมีจำนวน 5.8ล้านคน

“ จบปีนี้เศรษฐกิจคงขยายตัว 0.9-1% หลังจากปีก่อนติดลบยไป 6% ปีหน้ามองว่าจะอยู่ที่  3.9% ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นขึ้นอยู่กับธีมการเปิดเมืองเป็นความหวังในปีหน้า  แต่ขออย่าให้เกิดการระบาดของโควิดรอบใหญ่อีก และขอให้มีนักท่องเที่ยวกลับมาบ้างราว 5.8ล้านคน   

แต่ยังคงมองปีหน้ามีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะมองว่ากว่าเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดน่าจะเป็นปี 2566 และปีหน้ายังมองความท้าทายใน 3เรื่องได้แก่  โควิด ,เศรษฐกิจในจีนมีแนวโน้มจะชะลอจากภาคอสังหาริมทรัพย์โดยจีนจะเน้นการใช้จ่ายในประเทศอาจกระทบเศรษฐกิจไทย และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในสหรัฐถ้าเฟดต้องแตะเบรกก็จะมีผลกระทบการลงทุนและเศรษฐกิจเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม   ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ที่พุ่งแตะ 6.8% แม้ว่าตลาดแรงงานจะทยอยสู่ภาวะปกติ แต่เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ถ้าเฟดต้องแตะเบรกการดำเนินนโยบายการเงิน โดยคาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งไปสู่ระดับ 0.50-0.75%

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่าถ้าเศรษฐกิจในประเทศยังไม่เติบโตไม่ดี การจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ลำยาก จึงมีความแตกต่างการดำเนินนโยบายการเงิน  ดอกเบี้ยและอาจส่งผลความผันผวนต่อค่าเงินบาทได้

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะเป็นเสือหมอบที่พร้อมจะกระโจน  คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.8% โดยมาจากปัจจัยการส่งออก กำลังซื้อที่ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว แต่การกระจายตัวที่ไม่ทั่วถึงจากปีนี้จีดีพีขยายตัว 1.1% ซึ่งเป็นการเติบโตเตี้ยที่สุดในอาเซียน

 

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำเพิ่มเติม คือ มาตรการเติมเต็มการจ้างงานและด้านภาษี  เช่นการจ้างงานแลกเงิน และดึงคนมีกำลังซื้ออกมาใช้จ่ายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะภาครัฐยังมีเม็ดเงิน เพียงแต่ภาครัฐต้องเปลี่ยนรูปแบบผยุงเศรษฐกิจรอกำลังซื้อที่จะดีขึ้น เมื่อการระบาดของโควิดคลี่คลาย  จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เสือหมอบสะดุดได้ มาจากความเสี่ยงทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่จะมีการเลือกตั้ง รวมถึงความเสี่ยงสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ซึ่งต้องติดตาม และสงครามเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบ

ด้านค่าเงินบาท แนวโน้มยังอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่ากลางปีหน้าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33บาท/ดอลลาร์เมื่อมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามา ทำให้มีรายได้เข้ามา และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก

 

ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวที่ระดับ 3.9% จากปีนี้ขยายตัวราว 1% โดยมองว่าภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคประชาชน แต่ต้องโฟกัสกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ  แม้ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะไม่เติบโตเร็วเท่าประเทศอื่น  แต่มีเวลาสร้างฐานรากให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรงขึ้น   ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงจากค่าระวางเรือ และต้องจับตาเรื่องซัพพลายเชนดิสรับชั่น  เนื่องจากมีกระแสข่าวผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจจะดีเลย์ส่งชิปให้กับไอโฟนรุ่นต่อไป 

“ ในแง่ของการปรับตัวนั้น มองว่าแนวโน้มเทรนด์ของโลก ไม่ว่าสังคมสีเขียวหรือสุขภาพ เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนกระบวนท่า โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเมดิคอลฮับ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่จะต้องปรับตัว เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี”