สรท.จี้แก้ 6 ปัญหาใหญ่ เคลื่อนส่งออกไทยปี 65 ฝ่าวิกฤติ“โอไมครอน”

06 ธันวาคม 2564

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคของประชาชนให้กลับมาฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ เสริมภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1

 

เฉพาะอย่างยิ่งโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่เวลานี้แพร่ระบาดแล้วในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก หากเอาไม่อยู่เศรษฐกิจโลกอาจกลับมาชะลอตัว จากหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

ท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงนี้นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)ที่มีสมาชิกเป็นผู้ส่งออกในสินค้าหลัก ๆ ของประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึง ทิศทางแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2565 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออก รวมถึงปัญหา/อุปสรรคของการทำธุรกิจที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ดังรายละเอียด

 

นายชัยชาญ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2564 คาดจะขยายตัวได้ที่ 12-14% ซึ่งถือมีความเป็นไปได้สูงมาก แต่หากจะขยายตัวได้ที่ 15-16% ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำลังลุ้นอยู่นั้น มองว่าก็มีความเป็นไปได้ หากใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้สามารถส่งออกได้ที่ 2.17-2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน นอกจากนี้ต้องไม่มีอุปสรรคในเรื่อง 1.การบริหารด้านการขนส่งระหว่างประเทศ จากปัจจุบันการหาระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์ยังมีการขาดแคลนอยู่ ทำให้การส่งออกต้องเลื่อนและล่าช้า

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

 

2.การขาดแคลนแรงงานหลังจากมีการเปิดประเทศ แรงงานในภาคบริการและขนส่งมีความต้องการมากขึ้นทำให้แรงงานในระบบขาดแคลนอย่างมากในภาคการผลิต โดยคาดการณ์ยังขาดแคลนประมาณ 4-5 แสนคน ทำให้การผลิตไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสิ่งทอที่ใช้แรงงานเข้มข้น

 

  • 6 ปัจจัยเสี่ยงศก.-ส่งออกไทย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยมากที่สุดช่วงจากนี้จนถึงปีหน้า คือ1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ อาทิ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และในหลายพื้นที่ของโลก หากสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น และยืดเยื้อเอาไม่อยู่ และหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยกลับมาล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง อาจส่งผลต่อการบริโภค และการนำเข้าที่ลดลงได้

 

2.ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ จากการขาดแคลนตู้สินค้าซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าระวางเรือทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในหลายอุตสาหกรรมการผลิตส่งออก และต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกอย่าง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค

 

สรท.จี้แก้ 6 ปัญหาใหญ่ เคลื่อนส่งออกไทยปี 65 ฝ่าวิกฤติ“โอไมครอน”

 

3.วิกฤติพลังงานของประเทศจีนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก 4.สถานการณ์การเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ และความคล่องตัวของเงินทุนโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME มีจำกัด ทำให้ภาคการบริโภคของเอกชนยังคงซบเซา

 

5.การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตส่งออก อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่านำเข้าแรงงานสูงมากขึ้นจากเดิมประมาณ 15,000 บาทต่อคน จะปรับเพิ่มเป็น 30,000 บาทต่อคน เนื่องจากต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อโควิด และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในระหว่างที่แรงงานต่างด้าวกักตัว และ 6.เงินเฟ้อ จากการที่ต้นทุนสินค้าและราคาของต่าง ๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้น 10-20% ทำให้ในปี 2565 ต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อของไทย ขณะที่ค่าแรงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

 

“ในปี 2565 ในเบื้องต้นคาดจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% บนสมมติฐานโอไมครอนสามารถเอาอยู่และไม่ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงประเทศไทยต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก ส่วนการส่งออกเบื้องต้นคาดจะขยายตัวได้ที่ 5% จากฐานตัวเลขส่งออกปี 2564 ที่สูง รวมถึงการส่งออกของโลกหลังโควิดกลับมาแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น”

 

สรท.จี้แก้ 6 ปัญหาใหญ่ เคลื่อนส่งออกไทยปี 65 ฝ่าวิกฤติ“โอไมครอน”

 

  • 6ปัญหาภาคธุรกิจให้เร่งแก้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคของการทำธุรกิจที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไข หรือช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนได้แก่ 1.ค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2565 โดยเฉพาะเส้นทางสหภาพยุโรป และอเมริกา 2.การขาดแคลนแรงงานในภาคการอุตสาหกรรม ก่อสร้างและบริการ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย 2.4 ล้านคน จากการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวของนายจ้างทั้งประเทศ พบว่าต้องการแรงงานต่างด้าว 4-5 แสนคน เป็นที่มาของการจัดทำ MOU นำเข้าแรงงาน

 

3.รัฐต้องผลักดันแรงงานเข้ามาในระบบให้มากขึ้น รองรับการเติบโตของการส่งออก ให้ยอดส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ในประเทศขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จากที่ผ่านมาเข้าระบบเพียง 1.6-2 แสนคน นอกจากนี้ต้องการให้เพิ่มรูปแบบการจ้างงานลักษณะพาร์ตไทม์ ระยะเวลาจ้างไม่ต่ำ 4 ชั่วโมง เป็นต้น

 

4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสินค้ามีความผันผวนต่อเนื่องในปีหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป สูงขึ้นเป็นเท่าตัวรอบ 5-10 ปี ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจสร้างปัญหาเชิงระบบทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก หากปัญหาชะงักงันอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น

 

5.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสโอไมครอน(Omicron)  หากไม่สามารถควบคุมได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนเช่นตอนที่พบการติดเชื้อโควิดช่วงแรก   และ 6.กระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับ New Normal อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ เหล่านี้คือปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

 

สรท.จี้แก้ 6 ปัญหาใหญ่ เคลื่อนส่งออกไทยปี 65 ฝ่าวิกฤติ“โอไมครอน”

 

  • ข้อเสนอแนะอื้อช่วยส่งออก

ส่วนข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในปี 2565 ที่สำคัญ เช่น เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ อาทิ Thai-EU, เจรจากับประเทศจีนเพื่อให้สินค้าไทยสามารถ Transit ทางรางเพื่อส่งสินค้าจากไทยไปยุโรปผ่านระบบรถไฟของจีนตามเส้นทาง BRI (Belt Road Initiative), ส่งเสริมให้เกิดอี-คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มของไทย, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าไทย, ติดตามและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ให้เร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว, ส่งเสริมการลงทุน วิจัย พัฒนา ตามกรอบ BCG และ SDGs, ปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้รองรับกับการทำงานที่บ้าน(WFH) และ Part Time และเร่งรัตให้หน่วยงานภายในประเทศมีความพร้อมในการออกใบรับรองที่สอดคล้องกับมาตรการทางการค้า เป็นต้น

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3737 วันที่ 5-8 ธันวาคม 2564