บาททิศทางอ่อนค่า สินค้าทุน-วัตถุดิบอ่วม ราคาพุ่งเบรกนำเข้า

13 พ.ย. 2564 | 02:00 น.

บาทอ่อนดันสินค้าทุน-วัตถุดิบราคาพุ่ง ผู้ประกอบการชะลอนำเข้า รอดูทางลมหลังสหรัฐฯลดคิวอีลงเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลล์ คาดดันดอลลาร์แข็ง กดบาทอ่อนลงอีกระลอก พาณิชย์เผยตัวเลข 9 เดือนไทยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกว่า 6.22 ล้านล้านบาท วิ่งแซงส่งออก ทำขาดดุลการค้า

 

จากต้นปี 2564 จนถึง ณ ปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% มากสุดในภูมิภาค ส่งผลดีต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าไทย ทำให้สินค้าถูกลงแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น สะท้อนได้จากส่งออกไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ส่งออกได้ 6.20 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อีกด้านหนึ่ง บาทอ่อนค่าส่งผลกระทบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีราคาที่สูงขึ้นตามเงินบาทที่อ่อนค่าลง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้า

 

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งสิ้น 6.22 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.52% จากตัวเลขการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก ทำให้ช่วง 9 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 2.46 หมื่นล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยมีการนำเข้าในอันดับต้นๆ ได้แก่ สินค้าทุน (เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและอื่น ๆ) มูลค่ากว่า 1.51 ล้านล้านบาท, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 2.73 ล้านล้านบาท และสินค้าเชื้อเพลิง 9.01 แสนล้านบาท เป็นต้น

 

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้บาทอ่อนจะส่งผลดีต่อการส่งออกแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น และส่งออกได้มากขึ้น แต่อีกด้านบาทยิ่งอ่อนค่ายิ่งส่งผลกระทบการนำเข้ามีราคาหรือต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทุน พวกเครื่องจักรเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเดิม หรือในการขยายโรงงาน/ไลน์ผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ก่อนหน้านี้ในรายที่สั่งซื้อแล้วและมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าก็คงเดินหน้าต่อ แต่หากจากนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอีก ประกอบกับค่าระวางเรือยังสูง การนำเข้าสินค้าทุน พวกเครื่องจักร เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ คงมีการชะลอตัวลงเพื่อรอดูทิศทางค่าเงินบาท

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

บาททิศทางอ่อนค่า สินค้าทุน-วัตถุดิบอ่วม ราคาพุ่งเบรกนำเข้า

 

ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯมีนโยบาย QE Tapering (ธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (คิวอี) จากเดิมทำอยู่เดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดเหลือเดือนละ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์) ลดอัดฉีดเงินเข้าระบบลงเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกฟื้นตัวแล้ว จะมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นและแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก(จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์)

 

 “บาทอ่อนส่งผลดีต่อการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ไทยเพิ่งเปิดประเทศ เพราะจะมีผลให้ค่าใช้จ่ายด้านโรงแรม ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ มีราคาที่ถูกลง แต่เวลานี้ไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ตามที่คาดหวังไว้ เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่สุด รัฐบาลยังไม่มีนโยบายปล่อยคนของเขาออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศ ยกเว้นนักธุรกิจที่มีความจำเป็นจริง ๆ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่ากระทบภาคการนำเข้าอาจชะลอตัวลงจากราคาสินค้าแพงขึ้น”

 

ขณะเดียวกันยังกระทบการนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ ถ่านหิน) ที่จากเดิมราคาปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสูงขึ้นอีกในเด้งที่ 2 จากเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้เวลานี้ต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง โลจิสติกส์ต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น กระทบกำลังซื้อของประชาชนลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น และมีผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเวลานี้ มีผลให้ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้นจากค่าระวางเรือที่ปรับขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เม็ดพลาสติก กระดาษและอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตาม หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกจะปรับตัวสูงขึ้นอีกตั้งแต่ต้นปีหน้า 10-20% และจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นซึ่งหมายถึงประชาชนแม้จะมีเงินแต่จะซื้อของได้น้อยลง ดังนั้นภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้ให้ดี เพราะหลายสินค้าคงขอปรับราคา

 

 “ราคาสินค้าตั้งแต่ต้นปีหน้าจะปรับขึ้นแน่นอน อาจ 10-20% เพราะปรับ 5-10% คงไม่พอกับต้นทุนที่สูงขึ้นจริง จากปัจจัยวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานนำเข้า ตอนนี้ใครขาดอะไรคงต้องรีบซื้อเพราะยังเป็นสต๊อกเก่า ราคายังไม่ปรับขึ้นมาก” นายชัยชาญ กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2564