เปิดข้อเสนอเอกชนเคลื่อนศก.ปี 65 ดัน”เที่ยวคนละครึ่ง”ฝ่าโอไมครอน

03 ธ.ค. 2564 | 04:03 น.

เปิดข้อเสนอภาคเอกชน เคลื่อนศก.ไทยฝ่า “โอไมครอน” สภาอุตฯ กระทุ้งเร่งรัดบริษัทได้รับส่งเสริม ให้มีการลงทุนจริง ขอคืนเงินค้ำประกันใน 30 วัน ผู้เข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สรท.ขอรักษาค่าเงินบาท สทท.ชง“เที่ยวคนละครึ่ง”ช่วยไปต่อ “เซ็นทรัล-เดอะไมเนอร์ฯ”ลั่นพร้อมรับมือ

 

ทั่วโลกจับตามองโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”ที่กำลังแพร่ระบาดในมากกว่า 20 ประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกกลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์ ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้เหยียบคันเร่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่หลังเปิดประเทศ โดยสภาพัฒน์คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 1.2% และปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ขณะที่สถาบันภาคภาคเอกชนส่วนใหญ่มองจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 0.5-1.5% และปีหน้าจะขยายได้อย่างต่ำ 2% (ยังไม่นับรวมปัจจัยโอไมครอน)โดยส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 12-14% และปีหน้าที่ 5% พร้อมนำเสนอแนะมาตรการต่อรัฐบาลเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจนับจากนี้

 

เปิดข้อเสนอเอกชนเคลื่อนศก.ปี 65 ดัน”เที่ยวคนละครึ่ง”ฝ่าโอไมครอน

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีข้อเสนอภาครัฐในหลายมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 ที่สำคัญได้แก่ การป้องกันและควบคุมสถานการณ์ของโควิด-19 ไม่ให้เกิดการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังที่เคร่งครัดจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน

 

  • เร่งบริษัทได้บัตรส่งเสริมลงทุนจริง

นอกจากนี้ขอให้เร่งรัดให้มีการลงทุนจริงของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 -2563 ไปแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย,กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น,เร่งฟื้นฟูธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้จริง โดยปรับเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

ในส่วนข้อเสนอทางการเงินการคลังที่สำคัญ อาทิ ขอให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เพิ่มขึ้นเป็น 70% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น, ขอให้ยกเว้นภาษีนิติบุคคล SMEs 3 ปี สำหรับผู้ที่จัดทำบัญชีเดียวและเข้าระบบภาษี E-Tax, ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐขอให้พิจารณาลดระยะการคืนเงินค้ำประกันให้เร็วขึ้น โดยขอให้ภาครัฐคืนเงินภายใน 30 วัน และลดวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 5% ของมูลค่าโครงการ สำหรับกรณีผู้ประกอบการ SMEs เป็นคู่ค้ากับภาครัฐ

 

สนับสนุนให้ภาคเอกชนซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand และ THAI SME GP สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้กับผู้ประกอบการจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น และให้ขยายผลขาดทุนทางภาษีจาก 5 ปี เป็น 8 ปี สำหรับภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax) เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลขาดทุนสุทธิยกมา สามารถนำผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวมาหักจากยอดกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันได้ เป็นต้น

 

“นอกจากนี้ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของจีดีพีที่จะฉุดรั้งการบริโภคในระยะเวลาข้างหน้า”

 

  • รักษาค่าบาท 33-34 บาทต่อดอลล์

ด้านนายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า  มีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 ได้แก่ เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรี(FTA) กับคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป(อียู),ส่งเสริมให้เกิด E-Commerce Super Platform ของไทย, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท 33-34บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของภาคส่งออก,ติดตามและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้กระทบกับกำลังซื้อและค่าครองชีพของประชาชน พร้อมเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการนำเขาแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

 

ภาพจาก พาเที่ยวไทย.com

 

  • สทท.ชง "เที่ยวคนละครึ่ง"

นายชำนาญ  ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรู้สึกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์"โอไมครอน" พอสมควร ซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนรับมือให้ดี เบื้องต้นการที่นายกรัฐมนตรี ปรับนโยบายให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยต้องตรวจ RT-PCR แทนการใช้ชุดตรวจATKในครั้งแรกเพื่อรับมือกับโควิดโอไมครอนก็ถือเป็นการป้องกันในระดับหนึ่ง และอยากเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการในการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เข้มข้นขึ้นอย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนหากยังมีการแพร่ระบาดลุกลามมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดการชะลอตัวในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่งจะเริ่มเดินได้หลังการเปิดประเทศ

 

ชำนาญ  ศรีสวัสดิ์

 

ทั้งนี้ สทท.อยากเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ใน 2 เรื่อง คือ 1.การจัดทำโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว 50% เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกด้านที่ครอบคลุมการใช้บริการผู้ประกอบการในทุกสาขาด้านการท่องเที่ยว อาทิ สปา ทัวร์ โรงแรม รถเช่า โดยไม่จำกัดว่าต้องใช้บริการเฉพาะการจองโรงแรมอย่างโครงการ"เราเที่ยวด้วยกัน"ซึ่งมีแต่โรงแรมที่ได้ประโยชน์

 

2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินให้ผู้ประกอบการรถบัส 5,000 คัน คันละ 1 หมื่นบาท เป็นเวลา6เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำรถไปวิ่งให้บริการแบบวันเดย์ทริป กระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศ ซึ่งช่วยได้ทั้งผู้ประกอบการรถบัสและมัคคุเทศก์ โดยอาจจะนำงบที่เหลือจากโครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมน้อย กันงบมาราว 300 ล้านบาทนำมาใช้  เพื่อให้อย่างน้อยเพื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้พอมีธุรกิจได้บ้าง จากการเปิดประเทศวันนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงไม่กี่จังหวัด เช่น ภูเก็ต กระบี่ กรุงเทพฯ เท่านั้น

 

  • เซ็นทรัล-ไมเนอร์ฯ พร้อมรับมือ

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล พลาซ่า, เซ็นทรัล เฟสติวัล. ฯลฯ กล่าวว่า หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน"ในต่างประเทศ เบื้องต้นรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการตรวจสอบ คัดกรอง เฝ้าระวังอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อมั่นว่าจะช่วยป้องกันการระบาดในประเทศไทยได้ดีในระดับหนึ่ง

 

 "หลังเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ยังไม่พบว่าส่งผลกระทบต่อมู้ดของนักช้อป เห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่ยังสูงใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติก่อนการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีทางศูนย์ฯยังคงมาตรการการตรวจ คัดกรองภายใต้มาตรการของสาธารณสุขขั้นสูงตลอดเวลาทั้งในส่วนพนักงานและร้านค้า เช่น การตรวจคัดกรองด้วย ATK เป็นต้น”

 

ส่วนนายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้าน"ซิซซ์เล่อร์" กล่าวว่า แผนรับมือโควิด  ซิซซ์เล่อร์ ไม่ได้ปรับลดมาตรการป้องกันที่เคยทำมา แต่ยังคงดำเนินธุรกิจบนสมมุติฐานว่าโควิดยังอยู่กับเราไปอีกนาน หากเกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่รุนแรงและมีมาตรการล็อกดาวน์หรือสั่งปิดร้านอาหารอีกครั้ง บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถปรับแผนธุรกิจและโยกย้ายวัตถุดิบจากครัวสาขาต่าง ๆ ไปยัง คลาวด์คิทเช่น ทั้ง 4 แห่งแถวชานเมืองเพื่อรองรับตลาดดีลิเวอรี่ได้ภายใน 1 วัน

 

“โควิดระลอกที่ผ่านมายังสอนให้รู้วิธีบริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบได้เก่งขึ้น ปัจจุบันไม่ได้สั่งซื้อวัตถุดิบคราวละมาก ๆ เหมือนช่วงเวลาปกติทำให้สามารถคุมต้นทุนได้ แม้ตอนนี้รายได้เราหายไปจากช่วงก่อนโควิดประมาณ 30% ก็ตาม”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3737 วันที่ 5-8 ธันวาคม 2564