ดีอีเอส ผลักดัน 5G City บูมเศรษฐกิจ 6.5 แสนล้าน

02 ธ.ค. 2564 | 05:17 น.

ดีอีเอส เร่งผลักดันใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G 6 Sectors 9 โครงการ ระยะถัดไปผลักดัน 5G City คาดปี 2573 ตลาด 5G ไทยบูม กว่า 6.5 แสนล้าน จ้างงานใหม่กว่า 130,000 ตำแหน่ง ชี้มีจุดอ่อนด้านแรงงานดิจิทัล และการให้ความรู้ประชาชนทันต่อภัยเทคโนโลยีดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมปาฐกถาพิเศษ 5G BIG MOVE.. ประเทศไทยสู่ DIGITAL HUB อาเซียน  ในงานนสัมมนา “5G THAILAND BIG MOVE” เพื่อก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายชัยวุฒิ ระบุว่า เทคโนโลยี 5G คือเทคโนโลยีที่ประเทศไทยนำมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ได้ทำต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าคงคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตเเบบนิวนอมอล การสื่อสารเเบบไร้สาย เพราะโควิดทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เรื่องการติดต่อสื่อสาร

 

ซึ่งรัฐบาลก็ส่งเสริมและวางนโยบายเทคโนโลยีดจิทัลหลายเรื่อง จนสามรถขับเคลื่อน เศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น เช่น อินเตอร์เน็ตเเบงกิ้ง พร้อมเพย์  

แต่มีบวกก็ต้องมีลบเพราะปัญหาตามมาคือมีเอสเอมเอส หลอกประชาชน การใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นเพราะรัฐบางส่งเสริมการประมูลคลื่นความถี่5G ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ

ดีอีเอส ผลักดัน 5G City บูมเศรษฐกิจ 6.5 แสนล้าน

การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีการใช้ IoT ต่างๆ ในระบบเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์ม) เป็นต้น เชื่อว่าปี 2570 จะยิ่งมีความต้องการใช้ 5G คาดว่าผู้ใช้ในไทยจะมีไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย และอีก 10 ปี จะนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายเข้ามาอย่างเต็มรูปเเบบ จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6.5 แสนล้านบาท 

 

โดยคาดว่า 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ให้กับประเทศไทย ได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่าภายในปี 2578  สามารถสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 130,000 ตำแหน่ง เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มากขึ้น และการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องอาศัย 5G ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ และสื่อบันเทิงต่างๆ จะมาใช้การสตรีมมิ่งผ่าน 5G

 

“ที่สำคัญการจะยกระดับให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต้องพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การค้าการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  หรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เข้าใจว่าผู้ประกอบการมองว่าต้องทำระบบ5G ให้สมบูรณ์ ก็จะเพิ่มจีดีพีไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่า ภาคอุตสาหกรรมในประเทศจะเปลี่ยนไป สินค้ามีคุณภาพ ต้นทุนถูก เเข่งขันเวทีการค้าโลกได้”

 

นอกจากนี้ที่สุดคือต้องผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีคลื่น 5G ที่พร้อมและดีที่สุดที่จะบริการประชาชน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งดำเนินการผลักดันการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด 6 Sectors ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และด้าน Smart City รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยการดำเนินการในระยะถัดไป กำลังผลักดันให้เกิด 5G City ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่

ดีอีเอส ผลักดัน 5G City บูมเศรษฐกิจ 6.5 แสนล้าน

“เราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในโครงค่าย5G ด้วยเงินลงทุนสูงมาก มาถูกทาง สิ่งที่ตามมา กสทช.และรัฐบาลต้องมองว่าคลื่นความถี่เพียงพอไหม ต้องเปิดประมูลอีกไหม รวมถึงส่งเสริมการลงทุน 5G เพิ่มเขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนก็รองรับ เห็นจากทรูและดีเเทคร่วมมือกัน เเต่เราก็คิดถึงบริการที่ดี ราคา กสทช. และรัฐบาลต้องติดตามการเเข่งขัน การทำธุรกิจที่จะไม่กระทบต่อราคาที่ประชาชนต้องจ่าย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น”  

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา  ได้ร่วมหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย  ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในอนาคต ตามนโยบายการนำพาประเทศไทย เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2560

 

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในระบบ 5G ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Centers   นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การค้า ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว การเงิน การเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ การพัฒนา Cloud Platform สำหรับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องเป็นการลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง การอบรม บ่มเพาะ และเร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัล นวัตกร และผู้ประกอบการ Startup การพัฒนา Smart port และ Smart airport โดยการนำเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ย้ำว่าประเทศไทยยังจุดอ่อนด้านบุคลากรดิจิทัล หรือแรงงานที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานด้านนี้ แม้แต่เรื่องการสื่อสารก็ยังไม่คล่องตัว ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือเรื่ององค์ความรู้ของประชาชนเพราะเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นก็ย่อมมีช่องว่างให้มิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนได้เช่นกัน

 

"ที่น่ากลัวกว่าเรื่องกำลังคนคือความแตกต่างเรื่องความรู้ วันนี้ยังมีคนที่มีมือถือถูกหลอกให้โอนเงินผ่านเอสเอ็มเอสเป็นล้านได้ เพราะมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงประชาชนหรือมาหลอกข้อมูลไป เป็นช่องว่างของประชาชนที่ไม่รู้หรืออาจจะเป็นที่ระบบ กสทช.ที่ต้องเข้มข้นขึ้น ต่อไปเศรษฐกิจดิจิทัลจะเเพร่หลาย ก็จะมีช่องว่างในมิจฉาชีพเข้ามา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเเละสื่อมวลชน ให้ประชาชนอยู่อย่างเชื่อมั่นในระบบ เดินไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”