ไทยพร้อมรับ “สหรัฐอเมริกา” ตรวจการบ้าน บริหารสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

29 พ.ย. 2564 | 09:00 น.

กรมประมง คลอดแผนบริหารสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA โชว์คลิกกดปุ่ม ส่งการบ้าน ให้ สหรัฐอเมริกา ตรวจแล้ว หวังป้องตลาดสินค้าประมงไทย

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.59 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  ได้ฤกษ์ดีในการกดปุ่มจัดส่งข้อมูลการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยให้สหรัฐอเมริกา ภายในระยะเวลาที่กำหนด  ซึ่งกรมประมงได้ทำการผลักดันการดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act, MMPA) ของสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษามูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง MMPA จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2566 นั้น

ประธาน กดปุ่มจัดส่งข้อมูลให้ สหรัฐอเมริกา

 

นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) เพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง และการทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกา ว่ามีการลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

 

เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อม ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562  เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศไทยยังคงส่งสินค้าประมงไปจำหน่ายได้

กรมประมง” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติ ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) สำหรับการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อเตรียมการและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ มีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งกรมประมงได้เปิดห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจ

 

โดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำการบันทึกข้อมูลการดำเนินการของประเทศไทยในการลดผลกระทบจากการทำการประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ International Affairs Information Capture and Reporting System, IAICRS

 

โดยมีการปฏิบัติงานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยมีผู้บริหารกรมประมงกำกับและติดตามความก้าวหน้าในการทำงานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งขณะนี้การบันทึกข้อมูลได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จึงได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินการตามกฎระเบียบ MMPA และข้อมูลการรายงานประกอบการประเมินเปรียบเทียบ

 

คลิก ส่งข้อมูล

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570

ดังนั้น กรมประมงจึงได้ถือฤกษ์ดี ในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.59 กดปุ่มจัดส่งข้อมูลผ่านระบบดังกล่าวไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลภายในระยะเวลาที่สหรัฐอเมริกากำหนด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีการอนุรักษ์และการบริหารจัดการสำหรับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นรูปธรรม เป็นไปตามหลักสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสหรัฐอเมริกา จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะมีการประกาศผลการพิจารณา (ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565) และบังคับใช้กฎหมาย MMPA ในวันที่ 1 มกราคม 2566

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการผ่านคณะทำงานชุดต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย      

 

1. คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 

 

2. คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 

 

3. คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม  เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA  ให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด  

 

สำหรับแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570  ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้

 

กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation)  ประกอบด้วย 2 แผนงาน 8 โครงการ 

 

กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development)  ประกอบด้วย 5 แผนงาน 11 โครงการ 

 

กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management)  ประกอบด้วย 6 แผนงาน 11 โครงการ

 

กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement) ประกอบด้วย  3  แผนงาน 7 โครงการ

 

กลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (Communication) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 14 โครงการ

 

โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 8 โครงการ ได้แก่

 

1. โครงการการใช้เทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรใกล้ฝั่งและไกลฝั่ง

 

 2. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 

 

3. โครงการการประเมินผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา การบรรเทาผลกระทบและการเยียวยาชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่

 

4. โครงการการแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน

 

5. โครงการการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เพื่อรองรับมาตรการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

 

6. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำเพื่อรองรับ Marine  Mammal Protection Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

7. โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 

 

8. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสัตว์ทะเลหายากผ่านระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol)  มีวงเงินงบประมาณรวม  225.9 ล้านบาท  โดยมอบให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อ.1 พิจารณารายละเอียดโครงการและงบประมาณต่อไป