กขค.จับตาใกล้ชิด TRUE ควบ DTAC สกัดใช้อำนาจเหนือตลาดไม่เป็นธรรม

27 พ.ย. 2564 | 03:03 น.

แผนควบรวมกิจการของ TRUE-DTAC ที่คณะกรรมการ(บอร์ด) ของทั้งสองบริษัทได้มีมติจะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อควบรวมธุรกิจ คาดจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า ถูกตั้งคำถามจากหลายภาคส่วนถึงความเหมาะสม และผลกระทบที่ตามมา

 

โดยมุมมองด้านลบ หลายฝ่ายระบุ จะทำให้มีผู้เล่นหรือผู้ให้บริการในตลาดน้อยลง ลดการแข่งขัน จำกัดทางเลือกผู้บริโภคทำให้ได้ประโยชน์ลดลง ทางกลับกันจะทำให้บริษัทมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น เกรงข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ค่าบริการจะสูงขึ้น ฯลฯ

 

 ขณะที่ทีดีอาร์ไอออกมาระบุ จะส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยที่มีโครงสร้างการผูกขาดอยู่แล้ว จะเกิดการผูกขาดมากขึ้นจนเข้าสู่ระดับอันตราย (ทั้ง 2 รายรวมกันจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือ 52%) ขณะที่มีมุมมองทางบวก เช่น การควบรวมจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจลดลง ค่าบริการอาจถูกลง เป็นต้น ซึ่งในภาพรวมเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วยมีมากกว่า และคัดค้านการควบรวมกิจการครั้งนี้

 

 นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. รวมถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ได้เข้ามาดูแล และใช้อำนาจตามกฎหมายในการยับยั้งการควบรวมธุรกิจครั้งนี้

 

ล่าสุดนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช. ออกมาระบุว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายในเบื้องต้น กสทช. ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการ แต่ทำได้เพียงการออกมาตรการกำกับดูแลเฉพาะกาล

 

 อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้เตรียมหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และกขค. เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายในการกำกับดูแลบริษัทใหม่หลังการควบรวมกิจการ และได้เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามรายละเอียดการเจรจาการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

 

สกนธ์  วรัญญูวัฒนา

 

สั่งจับตาควบรวมใกล้ชิด

นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (ประธานบอร์ด กขค.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามขั้นตอนในเรื่องกิจการโทรคมนาคม มีหน่วยงานเฉพาะที่กำกับดูแล ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ต้องส่งเรื่องให้ กสทช.พิจารณา ในเบื้องต้น กขค.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหากบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่อาจยื่นเรื่องมายัง กขค.เพื่อให้พิจารณาเรื่องการควบรวม ซึ่งตรงนี้ยังตอบไม่ได้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของบริษัทที่จะดำเนินการ

 

“โครงสร้างผู้ประกอบการค่ายมือถือ 3 บริษัทแรกของไทย ณ ปัจจุบัน (TRUE,DTAC,AIS) มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 75% ตามคำนิยามของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอยู่แล้ว (กราฟิกประกอบ) ซึ่งไม่ถือมีความผิดตามกฎหมาย ยกเว้นเขาจะใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ไปกลั่นแกล้งคู่แข่งขัน หรือแทรกแซงการประกอบธุรกิจของรายอื่น ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญและโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ขณะนี้การดำเนินการเพื่อนำไปสู่การควบรวมยังไม่มีในรายละเอียดออกมา เช่น ควบรวมแล้วจะทำธุรกรรมแบบไหน จะแบ่งการให้บริการอย่างไร ตรงนี้คงต้องไปไล่ดูในรายละเอียดที่จะออกมาก่อน ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการก็เป็นส่วนหนึ่งที่ กสทช.ต้องพิจารณา เพราะการแข่งขันไม่ใช่เฉพาะการรวมธุรกิจอย่างเดียว”

 

กขค.จับตาใกล้ชิด TRUE ควบ DTAC สกัดใช้อำนาจเหนือตลาดไม่เป็นธรรม

 

 

6 หน่วยงานกำกัดบดูแลแข่งขัน

ประธานบอร์ด กขค. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนอกจาก กสทช.ที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลภาคธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ​คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีกฎหมาย และมีมุมมองเรื่องการแข่งขัน รวมถึงการอนุญาต-ไม่อนุญาตต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้มีช่องว่างทางกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างจาก กขค. ที่ทำหน้าที่ดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เป็นธรรม ดังนั้นควรต้องมีการหารือในข้อกฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

 

โลตัสส์ใต้ปีกแม็คโครเดินต่อ

ส่วนกรณี ที่ กขค. มีมติ 4 : 3 ให้มีการควบรวมธุรกิจของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเทสโก้โลตัสไปก่อนหน้านี้ และล่าสุดกลุ่มซีพีได้ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก โดยโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd.ให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดย บอร์ด กขค.ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นธุรกรรมภายในบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งกรรมการ เพราะไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดภายในภาพรวมไปจากเดิมที่เป็นอยู่ จากมีเจ้าของเดียวกันนั้น

 

 นายสกนธ์ กล่าวว่า การโอนกิจการของโลตัสส์ให้สยามแม็คโคร แม้ไม่จำเป็นต้องแจ้ง หรือต้องขออนุญาต กขค. แต่ใน 7 เงื่อนไขเดิมที่ กขค.อนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมโลตัส แม้โลตัสส์จะมาอยู่ภายใต้สยามแม็คโครแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิม

 

“ใน 7 เงื่อนไขเดิมให้ทางกลุ่มซีพีต้องปฏิบัติก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไป ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็ได้รับรายงานข้อมูลตามเงื่อนไขให้เขาต้องปฏิบัติมาบ้างแล้ว ยอมรับว่าข้อมูลเขาเยอะมาก เพราะบางเรื่องบังคับให้ส่งมาทุก ๆ 3 เดือน 6 เดือน ทางสำนักงานก็กำลังรวมรวมและสรุปข้อมูลเพื่อรายงานต่อบอร์ด กขค.ต่อไป”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3735  วันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564