วิบากกรรมซีพี ควบรวมกิจการ กับกฎเหล็ก กขค.

24 พ.ย. 2564 | 09:10 น.

วิบากกรรม เครือซีพี ควบรวมกิจการ ใต้ร่มเงา "เจ้าสัวธนินทร์" กับกฎเหล็กของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.

ความยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกิจการครอบคลุมทุกมิติ ทำให้อาณาจักร "ซีพี" หรือ "เครือเจริญโภคภัณฑ์" ถูกจับตาทุกครั้งที่ขยับตัวเกี่ยวกับธุรกิจ ถูกตั้งคำถามจากสังคม และตกอยู่ในกระแสข่าวเสมอ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้มีข่าวลือกันหนาหู "ทรูจะซื้อดีแทค" กระทั่งเช้าวันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา แถลงข่าวของทรูและดีแทค ระบุว่า เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์

จะพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnership เพื่อสนับสนุนให้ทรูและดีแทค ปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี

จากข้อมูลพบว่า ทรูมีผู้ใช้งานกว่า 32 ล้านเลขหมาย ดีแทคมีผู้ใช้งานกว่า 19.3 ล้านเลขหมาย ในด้านผลประกอบการ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ทรูมีรายได้ 103,177 ล้านบาท

ส่วนดีแทคมีรายได้ 59,855 ล้านบาท หากรวมกิจการกันก็จะทำให้ ทรู-ดีแทคมีผู้ใช้งานรวมกันราว 51.3 ล้านเลขหมาย มีรายได้รวมกันถึงกว่า 163,032 ล้านบาท

การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค จะนำไปสู่การมีรายได้รวมกัน 217,000 ล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 83,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด ในแง่ของรายได้ไม่เกิน 40% แผนควบรวมแลกหุ้นนั้นจะมีการตั้ง “บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด”

ควบรวมกิจการ TRUE&DTAC ไปสุดทางที่ไหน?

 

ซิทริน โกลบอล จะเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ 2 บริษัท โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทําคําเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นดีแทค อยู่ที่หุ้นละ 47.76 บาท ราคาหุ้นทรูอยู่ที่หุ้นละ 5.09 บาท จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่สามารถขายหุ้นในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้

 

มาดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 9 ก.ค. 2564  มีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท แบ่งออกเป็น 100 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท  มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 2 คน ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 50% และ นายศุภชัย เจียรวนนท์ สัดส่วน 1% และมีบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีเอ แอลทีดี (Telenor Asia Pte LTD.) สัดส่วน 49% มีที่ตั้งสำนักงานที่ 313 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

 

มีกรรมการบริษัท 4 คน ได้แก่ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ,นายเมธี วินิชบุตร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายลาส์ เอริค เทลแมนน์  เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อ 2554  และนายยอร์เกน คริสเตียน อาเรนซ์ รอสทรับ

 

คำถามที่ตามมาก็คือการควบรวมกิจการสามารถทำได้หรือไม่ จะเป็นการผูกขาด และมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะในแง่มุมตลาดโทรคมนาคม ส่วนแบ่งการตลาด 2 รายรวมเป็น 52% นั่นหมายความว่าจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

 

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) บอกว่า ต้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตีความว่าจะควบรวมกิจการได้หรือไม่ และจะมีผลต่อการแข่งขันอย่างไร มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ซึ่งการควบรวมมีผลอย่างไรกับผู้บริโภค รูปแบบการบริการเป็นอย่างไร ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัด ยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น

 

ขณะที่การหารือเบื้องต้นระหว่างกลุ่มทรูกับ กสทช.รายงานข่าวระบุว่า ยังเป็นเรื่องของนโยบายบริษัทแม่ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกันสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) บริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทค เพื่อรวมกันตั้งบริษัทบริษัทใหม่เพื่อรับซื้อหุ้นซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทค ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. ซึ่ง กสทช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้

 

“การรวมบริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทค ต้องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นผู้ตรวจสอบ เหมือนกรณีบริษัทโฮลดิ้งของซีพีซื้อกิจการห้างค้าปลีกเทสโก้โลตัส”

 

ในเชิงธุรกิจก็คงต้องรอดูความชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาตรวจสอบและต้องให้คำตอบที่ชัดเจนกับผู้บริโภคเพราะต้องยอมรับว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ สร้างความกังวลในหมู่ผู้บริโภคไม่น้อยเลย

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า หากมีการผูกขาดแล้ว นอกจากค่าบริการที่สูง จะมีการบังคับขายพ่วงสิทธิ์มาด้วย ไม่ใช่แค่ลูกค้าทั่วไป แต่ยังหมายถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การประมูลคลื่น 6G ในอนาคต คนที่เข้ามาแข่งขันลดลง รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีน้อยลง ระบบเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อการควบรวมทำให้โครงสร้างผูกขาดมากขึ้นและอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่ Digital Economy

 

ในส่วนของภาคประชาชนก็ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกันโดยเฉพาะ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการควบรวมกิจการ เพราะจำนวนผู้เล่นในตลาดจะลดลงจาก 3 เหลือ 2 ส่งผลให้การแข่งขันลดลง ทางเลือกและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้ก็ย่อมลดลง นี่คือโจทย์ที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ความสำคัญ

 

“บิ๊กดีล” ซี.พี.-เทสโก้ เปลี่ยนสมรภูมิค้าปลีก

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี  ประกาศบิ๊กดีลด้วยการเข้าซื้อเทสโก้ ทั้งในไทยและมาเลเซีย ด้วยมูลค่ารวมกว่า 338,445 ล้านบาท  ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน นั่นคือ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) โดยที่ CPRH เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด(99.99%) ในบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) และ CPRD นี่เองที่เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงใน Lotus’s ทั้งในประเทศไทย (99.99%) และมาเลเซีย (100%)

วิบากกรรมซีพี ควบรวมกิจการ กับกฎเหล็ก กขค.

คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4 : 3 อนุญาตให้เครือซีพี และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รวมกิจการได้ โดยประเมินว่า "ไม่เป็นการผูกขาด" แม้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่กระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม

วิบากกรรมซีพี ควบรวมกิจการ กับกฎเหล็ก กขค.

กขค. ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่หลังการรวมธุรกิจ โดยกำหนด 7 เงื่อนไข  ที่ต้องปฏิบัติตาม เป็นเหตุให้ 37 องค์กรผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง กขค. ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองต่อคำร้องดังกล่าว

วิบากกรรมซีพี ควบรวมกิจการ กับกฎเหล็ก กขค.

โดยระบุการอนุญาตของ กขค.ให้มีการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนด จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองต่อคำร้องดังกล่าว โดยระบุการอนุญาตของ กขค.ให้มีการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนด จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

นายสันติชัย  สารถวัลย์แพศย์​  กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการ ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย ระบุถึงการลงมติไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจของกลุ่มซีพและเทสโก โลตัส ว่า การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้

 

ขณะกรรมการเสียงข้างมาก ระบุว่า โลตัสส์และแม็คโครทำธุรกิจคนละอย่างไม่ควรนำมาคิดรวบว่าทำให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ โดยโลตัสส์ทำธุรกิจค้าปลีก ส่วนแม็คโครทำธุรกิจค้าส่ง ซึ่งในข้อเท็จจริงแม็คโครไม่ได้ทำธุรกิจค้าส่ง 100% แต่มีสัดส่วน 20-30% ที่เป็นการค้าปลีก ดังนั้น การที่เเม็คโครเป็นเจ้าของโลตัสส์ 100% จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาด และอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการตลาดค้าปลีกค้าส่งของเมืองไทยได้

 

การควบกิจการของซีพีทำให้ขยายธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซีพีเฟรช 1 สาขา เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,158 สาขา

วิบากกรรมซีพี ควบรวมกิจการ กับกฎเหล็ก กขค.

นี่เป็นคือการขยับขยายธุรกิจเพียงบางส่วนของเครือ ซี.พี. เท่านั้น ที่กว่าจะผ่านเงื่อนไขการแข่งขันการค้า ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยทีเดียว ส่วนการควบกิจการทรู-ดีเเทค ก็คงต้องจับตาดูว่าที่สุดแล้ว ซีพีต้องเจอกับ "กฎเหล็ก" ของกขค.ซึ่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวดจะเป็นอย่างไร ถ้า กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น