เกมเปลี่ยน ชิงเทคดิจิทัล บิ๊กทุนควบรวมสร้างอาณาจักร

25 พ.ย. 2564 | 02:30 น.

วัดขุมพลังกลุ่มทุนใหญ่ “กัลฟ์-ซีพี”ยึดธุรกิจโทรคมนาคมต่อยอดธุรกิจสู่ “เทค ดิจิทัล เซอร์วิส” สยายปีกสู่อาเซียน นักวิชาการ มองสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เชื่อแม้เหลือผู้ให้บริการ 2 ราย แต่แลกหมัดชิงลูกค้าไม่มีใครยอมใคร ทั้งคู่มีความพร้อม อินฟราสตักเจอร์-เงินทุน

แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้หลายธุรกิจซบเซา แต่ไม่ใช่กับธุรกิจโทรคมนาคม เพราะหลังนายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดเข้ามานั่งเป็นกรรมการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH หลังเข้าซื้อกิจการ รวบหุ้นใหญ่กว่า 42%

 

ล่าสุดเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี)ยังประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันกับกลุ่มเทเลนอร์ เพื่อสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)ควบรวมกิจการกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่และปรับโครงสร้างเป็นบริษัทเทคโนโลยี

 

ต้นทุนบีบร่วมกิจการ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ทั้งการประมูลคลื่นความถี่และการลงทุนขยายโครงข่าย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนระดับแสนล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนไม่สูงเหมือนในอดีต อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาโควิด ยังส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจ การปรับตัวไม่ได้เกิดเฉพาะโทรคมนาคม แต่อุตสาหกรรมอื่นก็มีการควบกิจการ เช่นแบงก์เข้ามาซื้อหุ้นกิจการสินทรัพย์ดิจิทัล หรือแบงก์ต่างชาติรายหนึ่งกำลังจะหยุดให้บริการในไทย ทั้งหมดเป็นเรื่องของการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มเทเลนอร์ ไม่ลงทุนประมูลคลื่นความถี่ในราคาสูง ขณะที่คู่แข่งขันทั้งทรู และเอไอเอส มีความแข็งแกร่ง ทั้งคลื่นความถี่ และอีโคซิสเต็ม ทั้งบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต บริการ 5G ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ บริการเสริมอื่นๆ ทั้งคอนเท้นต์ อย่างไรก็ตามมองว่าจุดแข็งของดีแทค อยู่ที่การตลาด และการเข้าถึงผู้ใช้ ที่สำคัญเทเลนอร์ ยังรู้จักตลาดภูมิภาค มองว่าเป้าหมายต่อไปของทางทรู ไม่ได้มองเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ต้องการขยายบริการไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน

ในมุมของผู้บริโภคนั้นลูกค้าทรูคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ส่วนลูกค้าดีแทค ได้รับการนำเสนอแพ็กเกจ 5G ทรูที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมบัลเดิลบริการเสริม ทั้งบรอดแบนด์หรือคอนเท้นต์ ทรูไอดี  อย่างไรก็ตามหลายคนอาจกังวลว่าการรวมกันอาจทำให้ผู้บริโภคเหลือทางเลือกใช้บริการน้อยลง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการคงไม่มีใครยอมใคร ซึ่งทุกรายต้องพยายามพัฒนาบริการเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า ส่วนที่มองว่าผูกขาดนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ยังมีเอ็นที มีฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจไม่สูง แต่เป็นเจ้าของโครงข่าย เคเบิลใต้น้ำ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต

 

ที่มีการหยิบยกตัวเลขผู้ใช้ “ทรู-ดีแทค” รวมกัน มีส่วนแบ่งตลาด 51% ขณะที่เอไอเอส มี 49% นั้นไม่ได้มีนัยยสำคัญ และไม่ได้หมายความว่าทำให้ก้าวสู่อันดับหนึ่ง เพราะจะพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้งานไม่ได้ ส่วนตัวมองว่า เอไอเอส ยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาด มีตัวเลขผลประกอบการ กำไร มีความมั่งคัง ยั่งยืน มากกว่า ลูกค้าเอไอเอส รอยัลตี้สูง ไม่ย้ายค่ายง่ายๆ ต่างจากลูกค้าทรู และดีแทค ที่ย้ายค่ายตามโปรโมชัน

 

ภายหลังจากนี้ต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงวงการโทรคมนาคมต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ โดยฝั่งมีความแข็งแรงเรื่องซัพพลายเชน สินค้าเกษตร ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมีความแข็งแรง เรื่องพลังงาน ทั้งคู่มีความแข็งทั้งอินฟราสตักเจอร์ เงินทุน และต้องการขยายไปภูมิภาค เชื่อว่าต่อจากนี้แต่ละราย ต้องพยายามต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจไปตามที่ถนัด

เกมเปลี่ยน ชิงเทคดิจิทัล บิ๊กทุนควบรวมสร้างอาณาจักร

“สมเกียรติ”สับผูกขาดระดับอันตราย

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)  กล่าวว่า ดีลระหว่าง TRUE และ  DTAC ครั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะเรียกว่าอะไรแต่นี่ คือ "การควบรวม" ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยที่มีโครงสรางกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย หากมีการควบรวม ขณะที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจากการควบรวม คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย 

 

"ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น Equal Partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ภาษาง่ายๆ คือ การควบรวม ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจะเกิดขึ้นกับทั้ง 3 ราย เน้นว่าทั้ง 3 รายไม่ใช่เฉพาะแค่กับบริษัทที่จะควบรวม เอไอเอสจะได้อานิสงส์ด้านบวกไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ที่จะได้ผลกระทบด้านลบจากการควบรวม มีผู้บริโภค ประชาชน ทุกธุรกิจการทำมาหากินวันนี้ต้องใช้โมบาย ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ผู้ที่จะเป็นคู่ค้าอยู่แล้วกับบริษัทโทรคมนาคม เช่น ช็อปต่างๆ ที่จะติดต่อกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ อำนาจต่อรองก็จะลดลง สตาร์ทอัพที่หวังจะได้เงินจากเวนเจอร์แคปฯ ถ้าเกิดควบรวม คนสนับสนุนสตาร์ทอัพหายไปอีกหนึ่งราย" 

 

ขณะที่รัฐบาลก็จะได้ผลกระทบในแง่ลบด้วย ที่เป็นรูปธรรม การประมูลคลื่นครั้งใหม่ เช่น คลื่น 6 จี ในอนาคต คนจะเข้ามาแข่งขันจะลดลง รัฐก็จะได้รายได้ลดลง เมื่อรัฐรายได้ลด ก็มีโอกาสที่จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้เสียภาษี ไปโปะการขาดดุลภาครัฐ เพื่อชะลอหนี้สาธารณะที่กำลังสูงอยู่

 

สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ต้องการให้เป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าเกิดมีการควบรวมในกลุ่มโทรคมนาคม ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดเพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยเวลาจะทรานส์ฟอร์มไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย และอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

กสทช - กขค ต้องกำกับดูแล

กสทช มีหน้าที่เพิ่มการแข่งขันในตลาดและลดการผูกขาด ซึ่งการควบรวมครั้งนี้เป็นการลดการแข่งขันลงมาก กสทช จะปฏิเสธหน้าที่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ กขค ก็มีหน้าที่ตามกฏหมายกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด 

 

เหตุผลที่ทั้ง 2 บริษัทบอกในการควบรวม คือ เป็น Equal Partnership การร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผลในทางเศรษฐศาสตร์ คือ การลดจำนวนผู้ประกอบการ ทั้ง 2 รายบอกว่าการควบรวมกันจะพัฒนาเทคโนโลยีพาไทยแข่งเวทีโลก และเตรียมพร้อมความท้าทายใน 20 ปีข้างหน้า โดยจะสร้างรายได้ 2.17 แสนล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 8.3 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำกว่า 40% 

 

การบอกว่ารวมกันว่าส่วนแบ่งตลาดจะน้อยกว่า 40% ก็อาจจะจริงถ้าเป็นตลาดโดยภาพรวมของโทรคม แต่ถ้าเอาตัวที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ ตลาดโทรศัพท์มือถือส่วนแบ่งการตลาดของสองรายนั้นจะรวมกันเป็น 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด"

 

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดความผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index: HHI ซึ่งค่าสูงสุด 10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว

 

ขณะที่ การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมไทย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูด

 

เขาย้ำต่อว่า ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์ ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วัน เพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15%  ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7%  แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 รายจะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม

 

เมื่อตลาดเหลือผู้เล่น 2 รายแปลว่าตลาดโทรคมไทยจะย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อนที่มีผู้เล่นเพียงแค่ เอไอเอส และดีแทค ถ้าตลาดแข่งน้อย เราดูจากในอดีตได้

 

โทรคมไทยถอยหลัง

 

15 ปีที่แล้ว มีโอเปอเรเตอร์ 2 ราย คือเอไอเอส และดีแทค การแข่งขันน้อย ใครได้ประโยชน์ ตอนนั้นมี  2 ราย มีบริการไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ มีการล็อกอีมี่ เช่น ถ้าอยากใช้เอไอเอสต้องซื้อโทรศัพท์จากเอไอเอส เพราะมีการล็อกอีมี่ ซึ่งการควบรวมจะทำให้คุณภาพลดลง มีการบังคับขายพ่วง แพ็กเก็จไม่เป็นประโยชน์ เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือก 2 ราย จากเดิมมีทางเลือก 3 ราย  เช่นเดียวสตาร์ทอัพหวังได้เงินจากค่ายมือถือ หากมีการรวมกิจการ แหล่งสนับสนุนก็จะลดลง  

 

ขณะที่รัฐนั้นเสียผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการครั้งนี้กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจากการประมูล 3จี มาแล้ว ที่มีผู้ประมูล  3  ราย  เคาะประมูลเสร็จในวันเดียว ผู้ประกอบการได้ไลเซ่น 3จี ไปในราคาถูก จน กสทช.ออกมามีคำสั่งให้ลดราคาลงมา 15%  ท้ายสุดโอเปอเรเตอร์ที่มีข้อมูลผู้บริโภคเมินออกแพ็กเกจราคาถูกลง 15% จริง แต่เป็นบริการที่ผู้บริโภคไม่ใช้งาน  

 

ขณะที่อนาคตรัฐบาล เปิดประมูลคลื่นความถี่ 6จี  ผู้ให้บริการลดลง ไม่มีการแข่งขัน รายได้เข้ารัฐก็ลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล หากปล่อยให้โครงสร้างให้อยู่ในตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน  ผู้ใช้ องค์กร ได้รับผลกระทบหมด ทั้งเรียนออนไลน์ โรงพยาบาล ภาคธุรกิจ

 

กสทช.ไม่ควรปล่อยให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว แล้วไปแก้ปัญหา ทางออกคือ กสทช. ควรรีบออกประกาศ เป็นกฎหมายลูก ของ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม   ให้กิจการโทรคมนาคม สามารถขายกิจการได้  แต่ขายให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด 

 

"กสทช ที่บอกว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาการควบรวม แต่ถ้าการควบรวมเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความเสียหายภายหลังก็จะไปกำกับดูแล เช่น กำกับดูแลด้านราคา ตัวอย่างนี้อธิบายได้ชัดเจนมากว่า หาผู้ประกอบการจำนวนลดลง ถ้าโครงสร้างตลาดมีปัญหาผูกขาดแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช จะไปกำกับดูแลพฤติกรรม การกำหนดราคา เช่น สั่งให้ลดราคากี่% ในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นยากมาก เพราะกสทช จะไม่มีข้อมูลที่ตามทันผู้ประกอบการ ต่อให้อยากกำกับดูแลจริงๆ นี่เป็นปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ควบรวมไปก่อน แล้วไปแก้ปัญหาเอาดาบหน้า" 

 

ทั้งนี้ กสทช.ควรกลับไปพิจารณาข้อกฎหมายที่มีอยู่  ข่าวการควบรวมกิจการมีมานานแล้ว   แต่ควรศึกษาเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับกสทช.ชุดใหม่   ไม่ใช่รีบออกมาปฎิเสธว่ากำลังจะหมดวาระแล้ว  แล้วปล่อยให้ควบรวมกิจการไปแล้ว  แล้วค่อยมาแก้ปัญหาที่หลัง

 

"อย่าทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตัน ถ้าต้องเหลือตลาดที่ไม่แข่งขัน การกำกับดูแลมันจะยากมาก วิธีที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันอยู่ได้ ก็ต้องรักษาการแข่งขันปัจจุบันให้คงอยู่ไว้ โดยไม่ยอมให้มีการควบรวม" ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว

 

พันธมิตรเท่าเทียม

นายซิกเว เบรคเก ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่าความร่วมมือกับทรู ถือเป็นการผนึกกำลังวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Equal Partnership และจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม

 

สำหรับแผนการความร่วมมือที่เป็นความริเริ่มใหม่นี้เป็นการนำดิจิทัลเซอร์วิสที่แตกต่างไปจากในอดีตสู่ประเทศไทย  เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้บริการที่นำเสนอและรูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเทคโนโลยีใหม่ ทั้ง AI คลาวด์ หรือเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นพายุใหญ่ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

 

 การร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับกลุ่มซีพี ครั้งนี้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม ให้กับประเทศ และลูกค้าในไทย โดยมีรายได้รวมกัน 217 พันล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 83 พันล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 40%

 

 ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทั้ง 2 บริษัทมีข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ใช้บริการ และประเทศ การร่วมมือกันครั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ สร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศ โดยมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนา มีการลงทุนเทค สตาร์ทอัพ โดยจะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นมา จัดตั้ง Excellent Center ซึ่งเป็นโรงเรียนเทคโนโลยี การสร้างหรือพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิศวกร การดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรม เช่น เทเลนอร์ สุดท้ายคือการปฏิรูปการศึกษา สำหรับเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง เช่น คลาวด์ IoT ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน AI และที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีอวกาศ โดยเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ฮับภูมิภาคหรือโลก

 

กสทช.-กขค.โยนลูกไปมา

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ได้เดินทางมาชี้แจงที่สำนักงาน กสทช.ว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างระดับบน คือ เทเลนอร์ กรุ๊ป และซีพี   ซึ่งหากอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ จึงยังไม่เกี่ยวข้องกับกสทช. ส่วนระดับกลางซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 นั้นเป็นระดับของ ดีแทคและกลุ่มทรูฯ ซึ่งยังไม่มีการเจรจากันถึงระดับล่างในบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.คือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข กฎเกณฑ์หรือประกาศของ กสทช.

 

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องกระบวนการตามกฎหมายของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เรื่องอำนาจเหนือตลาด หรือ การผูกขาดตลาดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งทั้ง ดีทีเอ็นและทียูซีต้องแจ้งและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกสทช.โดยในวันที่ 23 พ.ย. และ กสทช.จะเชิญตัวแทนจากทรูฯเข้ามาชี้แจงด้วย

 

ด้านนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (ประธานบอร์ด กขค.) กล่าวว่าการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC การจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการควบรวมขึ้นกับ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลกฎหมายการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะที่จะเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น

 

“สมมุติว่า กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวม กขค. ก็ต้องไปดูในรายละเอียดของว่าเป็นแบบไหน อย่างไร จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวมอย่างไร และต้องรอดูว่าทางบริษัทจะแจ้งเรื่องการขออนุญาตควบรวมมาที่ กขค. หรือไม่ เพราะอำนาจตามกฎหมาย ณ ปัจจุบันการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคมอยูที่ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง แต่ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเขาก็ต้องแจ้งเราด้วย”

 

ร่อนจม.จี้กสทช./ตลท.

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สอบ. ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า การควบรวมของ 2 บิ๊กธุรกิจนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งการลิดรอนสิทธิ์ทางเลือกของผู้บริโภคที่เหลือเพียง 2 ทางเลือก รวมทั้งยังส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดที่เมื่อควบรวมกันแล้วมีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 เกิน 50% จึงมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ต้องศึกษาต่อไปว่าจะส่งผลต่อราคา หรือคุณภาพด้านการบริการหรือไม่

 

โดยนางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่เป็นกังวลนอกเหนือจากการที่ผู้บริโภคจะถูกตัดสิทธิ์ในทางเลือกลดลงไปก็คือ การแบ่งตลาดกันเล่น จะส่งผลต่อเรื่องราคาหรือไม่ เมื่อไม่มีการแข่งขัน หรือว่าจะส่งผลต่อคุณภาพการบริการหรือไม่ เพราะตอนนี้ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่จะกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม สอบ.จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคในบื้องต้น สอบ.จะทำข้อเสนอไปถึงกสทช.ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้บริโภค ว่าควรสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่ทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้ เพราะส่งผลทางลบต่อผู้บริโภคและทำให้มีการแข่งขันน้อยลงท้ายที่สุดไม่เกิดแรงจูงใจในการแข่งขัน

 

นอกจากนี้สอบ. จะทำข้อเสนอถึงตลาดหลักทรัพย์ เพราะแน่นอนว่าโครงสร้างโทรคมนาคมถือเป็นเรื่องจำเป็นในการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันมีมากขึ้น และสอบ. จะเปิดเวทีให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมีโอกาสร่วมเวทีเพื่อให้สาธารณะหรือผู้บริโภคมีโอกาสตั้งคำถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป