ปุ๋ยเคมีโลกราคาพุ่ง 12 ปี ผู้ค้าสต๊อกเก่า เสือนอนกิน จับตาขอพาณิชย์ปรับราคา

10 ต.ค. 2564 | 00:00 น.

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีโลกป่วน ความต้องการพุ่งถึงขั้นต้องแย่งกันซื้อ ผู้นำเข้าไทยช็อก วงการระบุ ยูเรีย ไทยมีสต๊อกสิ้นสุดฤดูกาลนี้เท่านั้นชี้ใครนำเข้าเสี่ยงขาดทุนยับ พาณิชย์กดเพดานขายห้ามขึ้นราคา จับตา “ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว” เสือนอนกิน กอดสต๊อกต้นทุนต่ำ ฟันกำไรเละ

ราคาปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงสุดรอบ 12 ปีในเวลานี้ กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่น่าจับตามอง ผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 7 ปี ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น 4-5 เท่าจากปีที่แล้วทำให้ต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มขึ้นมาก

 

ประกอบกับสถานการณ์ "โควิด-19" ที่ทำให้ทุกประเทศตระหนักถึงความจำเป็นความมั่นคงทางด้านอาหารที่ต้องมีหล่อเลี้ยงในประเทศได้อย่างเพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจซ้ำรอยประเทศเคนยา ที่ต้องเบียดเสียดแย่งชิงอาหาร ทำให้ทั่วโลกตระหนักและพร้อมใจกันพลิกผืนดินของตัวเองเพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านอาหาร ทำให้มีความต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น

 

ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมี

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ค้า ผู้นำเข้าแม่ปุ๋ยเคมีของไทย โดยแหล่งข่าววงการค้าปุ๋ยเผยว่า เวลานี้แม่ปุ๋ยที่ไทยต้องนำเข้าทั้งแม่ปุ๋ยยูเรีย ไดแอมโมเนียฟอสเฟต และโพแทส เซียม ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความกังวลเรื่องซัพพลายที่มีน้อยในปัจจุบัน จากโรงงานผลิตแม่ปุ๋ยในยุโรปปิดหลายแห่ง ส่วนสหรัฐฯมีความต้องการปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่อินเดียเปิดประมูล 1-12 ตุลาคมนี้ ส่วนจีน รัฐบาลมีการตรวจเข้ม (นำเข้าและส่งออก) อีกครั้ง หลังราคาปุ๋ยในจีนปรับสูงขึ้น ส่วนไทยมีแม่ปุ๋ยยูเรียเพียงพอในการผลิตแค่สิ้นฤดูกาลเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น และไม่มีซื้อเข้าแล้วจากราคาแพงมาก ส่งผลกระทบทำให้ตลาดเอเชีย และ ทั่วโลกปรับตัวขึ้นตามตลาดปุ๋ยไนโตรเจน ประกอบกับซัพพลายที่ยังมีน้อย และความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนจีนซึ่งเป็นตลาดที่กำหนดราคาในตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการปรับราคาขึ้น

 

ราคาปุ๋ยเคมีตลาดโลก

 

ส่วนปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากตลาดปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ราคาค่อนข้างคงที่ แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ จากการเข้าควบคุมราคาปุ๋ยเคมีในจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ปุ๋ยและส่งออกแม่ปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก จะทำให้ตลาดและการส่งออกเป็นอย่างไร ซึ่งล่าสุดมีผู้ค้าของจีนมาเสนอขายแม่ปุ๋ย 40,000 ตัน ราคา 673 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พร้อมจัดส่งเดือนตุลาคมนี้ แต่ยังไม่มีการซื้อจากราคาสูง ขณะที่ตลาดโลก อินเดีย เสนอซื้อแม่ปุ๋ย 680 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โมร็อกโก แข่งซื้อบวกเพิ่ม 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 760 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

 

เช่นเดียวกับปุ๋ยโพแทสเซียม มีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งยุโรป บราซิล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอินโดนีเซียเสนอซื้อราคาสูงกว่า 640 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งน่าจะส่งผลต่อภาพรวมราคาในภูมิภาคนี้

 

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบริษัทว่าจะสั่งนำเข้าหรือไม่ แล้วถ้าสั่งนำเข้ามาจะมีของหรือไม่ อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงเวลานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นของการเพาะปลูก จาก 1.น้ำท่วม 2.ผลผลิตราคาถูกขายไม่ได้ราคา หากสั่งเข้ามาใหม่ ขายในราคานี้ขาดทุนทันที

 

จากกระทรวงพาณิชย์มีเพดานราคาให้จำหน่าย และถ้าปรับขึ้นเกษตรกรก็จะลำบากต้นทุนพุ่ง ส่วนผู้นำเข้าก็อยู่ไม่ได้ เพราะปรับขึ้นราคาไม่ได้ ถือว่าเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด ขณะที่ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในช่วงนี้คือ “ยี่ปั๊ว- ซาปั๊ว” ที่มีสต๊อกเก่าในต้นทุนต่ำที่จะขายสินค้ามีกำไรมากขึ้น 

 ด้านสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  รายงานข้อมูลจากที่ สศก. รวบรวมจากผู้ประกอบการ และข้อมูลราคาขายปลีกจาก สศท . เขต 1-12 พบว่า ราคาปุ๋ยเคมี ณ ปัจจุบันทุกสูตรมีราคาสูงในรอบ 12 ปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน  อาทิ ราคาขายปลีก เดือน ส.ค. 2564 ปุ๋ยเคมีสูตร “21-0-0” อยู่ที่ 8,267 บาทต่อตัน, สูตร “46-0-0” 14,697 บาทต่อตัน สูตร “16-16-8” 12,460 บาทต่อตัน, สูตร “0-0-60” 12,820 บาท/ตัน, สูตร “18-46-0” 16,360 บาท/ตัน, สูตร “16-20-0” 13,343 บาทต่อตันตัน, สูตร “15-15-15” 16,386 บาทต่อตัน และสูตร “13-13-21”  18,030 บาทต่อตัน เป็นต้น

 

 ทั้งนี้การใช้ปุ๋ยเคมีของไทยคาดจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพืช 5 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิตจากรัฐบาลช่วยจ่ายส่วนต่างให้

อำพันธุ์ เวฬุตันติ

 

 ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565 - 2569  เรื่องการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ราคาแพง และขาดแคลนในเวลานี้ จำเป็นต้องมีการบริหารปุ๋ยที่ชัดเจน จากที่ไทยมีเป้าหมายจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนอย่างต่ำ 25% ใน 5 ปี ขณะที่ในแต่ละปีไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 5-5.4 ล้านตัน คาดว่าแผนการบริหารปุ๋ยทั้งประเทศจะเสร็จสิ้นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ต้องจับตาผู้ค้า ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีจะออกมาเคลื่อนไหวให้กระทรวงพาณิชย์ปรับขึ้นราคาปุ๋ยหรือไม่ โดยมีเกษตรกรเป็นตัวประกัน

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3721 วันที่ 10-13 ตุลาคม 2564