โปรดเกล้าฯ “ปฐม เฉลยวาเรศ”พ้นตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท

15 พ.ย. 2564 | 12:43 น.

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม “ปฐม เฉลยวาเรศ” พ้นจากตําแหน่ง “อธิบดีกรมทางหลวงชนบท” หลังลาออกจากราชการ ตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2564

วันนี้ (15 พ.ย.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตําแหน่ง

 

ด้วยกระทรวงคมนาคมได้มีคําสั่งอนุญาตให้ นายปฐม เฉลยวาเรศ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตําแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 และสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พ้นจากตําแหน่งแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564

 

ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

รองนายกรัฐมนตรี

                       โปรดเกล้าฯ “ปฐม เฉลยวาเรศ”พ้นตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท

ก่อนหน้านี้  นายปฐม เฉลยวาเรศ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน โดยอ้างว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ  แพทย์ต้องการให้พักผ่อน

 

แต่แหล่งข่าวจากวงการรับเหมา ระบุว่า การลาออกของ นายปฐม เฉลยวาเรศ ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากโครงการแบริเออร์ยางพาราสะดุด และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งเป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ช่วยหนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้

 

โดยพบว่าในช่วงที่บินไปเกาหลีได้นำทัพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปทดสอบการใช้แบริเออร์ยางพารากันกระแทก กลับพบว่าผลดำเนินการทดสอบไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังเดินหน้าที่จะสานต่อโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้กรมทางหลวงชนบท ยกเลิกตั้งงบประมาณโครงการฯ ดังกล่าว

 

จากการลาออกของนายปฐม เฉลยวาเรศ ถือเป็นข้าราชการคนแรกของปี 2564 ที่ยื่นลาออก โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 65 ถึงแม้ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะระบุว่าการเข้าไปนั่งตำแหน่งในผู้ตรวจราชการ ใช่ว่าจะไม่มีงานทำแต่อย่างใด

 

การทำงานที่อาจไม่ถูกจริตนาย สำหรับ นายปฐม เฉลยวาเรศ อดีตอธิบดีกรมทางหลวงชนบท หนึ่งในข้าราชการระดับสูง ถูกเด้งเข้ากรุไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจฯ แบบค้านสายตา สร้างความกังขาแม้จะมีผลงานดีเกินเป้า โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การเร่งรัดโครงข่ายถนนสายย่อยเชื่อมถนนสายหลัก บรรเทาความเดือนร้อนประชาชนในการสัญจร แต่เสียงกระฉ่อน จากวงในกลุ่มผู้รับเหมาระบุว่าสาเหตุใหญ่มาจากไม่สนองนโยบายอุปกรณ์กั้นถนน หรือแบริเออร์ยางพารา รวมทั้งอาจไม่สนองตอบโครงการก่อสร้าง ถนน-สะพานบางเส้นทางของกระทรวงคมนาคมที่มองว่าเร่งด่วน