ไปต่อไม่ไหว 2 อธิบดีลาออก เหตุแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ ยุคคมนาคมยูไนเต็ด

12 ต.ค. 2564 | 06:34 น.

เปิดกรุแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการคมนาคม เผยสาเหตุ2อธิบดีสละตำแหน่ง อ้างปัญหาสุขภาพ ยื่นลาออกกะทันหันในปีเดียวกัน

ตามปกติการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการแต่ละกระทรวงต่างๆมีแทบทุกปี เนื่องจากในแต่ละปีจะมีข้าราชการหลากหลายตำแหน่งเกษียณอายุราชการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบว่าบางกระทรวงถือว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการบ่อยจนเป็นที่สังเกตและน่าจับตาไม่น้อย อย่างกระทรวงคมนาคม

 

 

เริ่มตั้งแต่การสรรหาปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ เนื่องจาก “ชัยยุทธ์ ทองคำคูณ” เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.63 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกระทรวงเปิดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีผู้บริหารระดับ 10 ที่ยื่นแสดงวิสัยทัศน์เข้ามา ได้แก่ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), นายอานนท์ เหลือบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม แต่กลับไร้เงา “จิรุฒม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมขนส่งทางบก เนื่องจากได้ขอถอนตัวกลางอากาศ ส่งผลให้ “ชยธรรม์ พรหมศร”ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกและเตรียมเสนอชื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและได้รับตำแหน่งเป็น “ปลัดกระทรวงคมนาคม” ทันที

 

 

การชิงตำแหน่งในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความประหลาดใจให้กับเหล่าบรรดาข้าราชการในกระทรวงเป็นอย่างมาก ซึ่ง “จิรุฒม์ วิศาลจิตร” เหลืออายุราชการอีก 5 ปี และเตรียมตัวสมัครเข้ารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่แรก แต่เหตุใดกลับหลีกทางให้ผู้สมัครรายอื่นอย่างง่ายดาย

 

 

 วงในกระทรวงคมนาคม เผยว่า ถึงแม้ “จิรุตม์ วิศาลจิตร” จะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่ “ชยธรรม์ พรหมศร”เป็นผู้ที่ทำงานโดดเด่นถูกใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มากกว่า โดย สนข. มักได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ ของกระทรวงคมนาคม เช่น การพิจารณาแก้ไขปัญหาค่าโง่ทางด่วนและแก้ไขปัญหาของสายการบินไทย เป็นต้น อีกทั้งในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ลงพื้นที่โครงการต่างๆ มักจะเห็น “ชยธรรม์ พรหมศร” เดินประกบควบคู่ข้างนายอยู่เสมอ เหมือนเป็นสัญญาณบอกของการเตรียมตัวรับตำแหน่งในครั้งนี้ด้วย

ข้ามฟากมาที่การโยกข้าราชการในกรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นกรมที่มีการใช้งบประมาณถึงแสนล้านบาท อย่าง “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” ได้แต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ด้วยเวลาไม่ถึง 1 ปี ถึงกับได้เลื่อนขั้นขยับจากข้าราชการระดับ 9 ขึ้นเป็นระดับ 10 และข้ามห้วยมาดูสายอากาศเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จนปัจจุบันถูกโยกมาดูสายถนนอีกครั้งในเวลาไม่ถึง 1 ปี แทน “ปฐม เฉลยวาเรศ” ที่ลาออกจากการเป็นอธิบดีทช.

 

 

ไม่เพียงเท่านั้นการแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการในยุคศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังพบว่าข้าราชการขอลาออกแบบกะทันหันถึง 2 ราย ภายในปีเดียวแบบน่าแปลกใจ ภายลัง ครม. มีการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงคมนาคม 1 ในนั้นคือนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง)

 

 

 แต่ไม่จบเมื่อ “ปฐม เฉลยวาเรศ” กลับยื่นหนังสือลาออกกะทันหันลาออกว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยใช้โอกาสนี้กลับไปพักรักษาตัวและพักผ่อน เบื้องต้นให้ทางเจ้าหน้าที่ส่งที่กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

 

 แหล่งข่าวจากวงการรับเหมา ระบุว่า การลาออกของ “ปฐม เฉลยวาเรศ” ในครั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการแบริเออร์ยางพาราสะดุดและไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งเป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ช่วยหนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้ โดยพบว่าในช่วงที่บินไปเกาหลีได้นำทัพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปทดสอบการใช้แบริเออร์ยางพารากันกระแทก กลับพบว่าผลดำเนินการทดสอบไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังเดินหน้าที่จะสานต่อโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ทช.ยกเลิกตั้งงบประมาณโครงการฯดังกล่าวออกไป

 

 

 จากการลาออกของ “ปฐม เฉลยวาเรศ” ถือเป็นข้าราชการคนแรกของปี 64 ที่ยื่นลาออก โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 65 ถึงแม้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ระบุว่าการเข้าไปนั่งตำแหน่งในผู้ตรวจราชการใช่ว่าจะไม่มีงานทำแต่อย่างใด

แต่ที่น่าประหลาดใจไม่แพ้การลาออกของนายปฐม  เฉลยวาเรศ คงหนีไม่พ้นการลาออกของนายวิทยา  ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ซุ่มยื่นหนังสือลาออกแบบเร่งด่วนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลของการลาออก ว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ ปัจจุบันอายุ 56 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปี 68

 


ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้นายวิทยา ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพนั้น อาจเป็นเพราะมีความกดดันในเรื่องของการทำงานด้วย เนื่องจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการติดตามงานตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนเป้าหมาย รวมทั้งสาเหตุของการลาออกนั้นพบว่าการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติ กฎหมายของกรมเจ้าท่ามีความล่าช้า รวมทั้งขั้นตอนการออกใบอนุญาตเรือและท่าเรือต่างๆ มีการใช้ขั้นตอนระยะเวลานาน

 

 


ที่ผ่านมาพบว่า “วิทยา  ยาม่วง” ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 7 เม.ย64 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณก่อนที่จะลาออกจากการเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า อีกทั้งในวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมานายชยธรรม์  พรหมมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เรียกนายวิทยา  ยาม่วง เข้ามาหารือถึงการยื่นหนังสือลาออก แต่กลับพบว่านายอธิรัฐ  รัตนเศรษฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับมอบหมายดูแลโครงการระบบขนสงทางน้ำกลับไม่สามารถติดต่อผ่านช่องทางใดๆได้เลย เรียกว่าหายเข้ากลีบเมฆไปทันที  ซึ่งอาจเป็นผลมาจากทนรับแรงกดดันในการทำงานจากนายใหญ่ไม่ไหวเป็นเหตุให้ลาออกและยุติการเป็นอธิบดี ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป

 


จากการแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ  รวมทั้งการลงพื้นที่ของนายศักดิ์สยาม   ชิดชอบ  ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ตนอาจต้องการดึงส.ส.เข้ามาร่วมงานในพรรคตัวเอง หากใครสกัดขาอาจงานเข้าและได้รับผลกระทบจากหน้าที่การงานก็เป็นได้