ถูก เด้งเข้ากรุ “ปฐม เฉลยวาเรศ” สละเก้าอี้พ้นอธิบดี ทช.

26 ก.ย. 2564 | 10:21 น.

ส่องสาเหตุ "ปฐม เฉลยวาเรศ" ถูกโยกเข้ากรุคมนาคม พร้อมยื่นหนังสือลาออกพ้นตำแหน่ง อธิบดีทช.อ้างปัญหาสุขภาพ วงในเผยทำงานไม่ถูกใจนาย

ในแต่ละปีจะมีข้าราชการหลายกระทรวงผลัดใบโยกย้ายตำแหน่งและลาออกอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นไม่พ้นข้าราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม อย่างกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลโครงการถนนหลายพันแห่งทั่วประเทศ อีกทั้งในปี 2565 จะมีข้าราชการหลายตำแหน่งที่จะเกษียณข้าราชการด้วยเช่นกัน

 

 

 

การทำงานที่อาจไม่ถูกจริตนาย สำหรับ นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) หนึ่งในข้าราชการระดับสูง ถูกเด้งเข้ากรุไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจ แบบค้านสายตา สร้างความกังขาแม้จะมีผลงานดีเกินเป้า โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การเร่งรัดโครงข่ายถนนสายย่อยเชื่อมถนนสายหลัก บรรเทาความเดือนร้อนประชาชนในการสัญจร แต่เสียงกระฉ่อน จากวงในกลุ่มผู้รับเหมาระบุว่าสาเหตุใหญ่มาจากไม่สนองนโยบายอุปกรณ์กั้นถนน หรือแบริเออร์ยางพารา รวมทั้งอาจไม่สนองตอบโครงการก่อสร้าง ถนน-สะพานบางเส้นทางของกระทรวงคมนาคมที่มองว่าเร่งด่วน

 

 

โยกตำแหน่ง-ยื่นลาออก 

 

 

อธิบดีกรมทางหลวงชนบทอธิบายว่า การโยกย้ายทำให้ต้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท โดยให้เหตุผลการลาออกในครั้งนี้ว่า มีปัญหาด้านสุขภาพ แพทย์ต้องการให้พักผ่อน ทำตัดสินใจลาออกพ้นตำแหน่งอธิบดีก่อนจะเกษียณอายุราชการในวัย 59 ปี หลังจาก เข้ารับตำแหน่งอธิบดี ทช. เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และสิ้นสุดตำแหน่งในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 หลังจากปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติหนังสือลาออกฉบับดังกล่าว 

 

 

เบิกจ่ายติดอัน1 

 

 

สำหรับผลงานการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2564 ทช. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีผลงานเบิกจ่ายติดอับดับที่ 1 โดยเบิกจ่ายได้เกิน 90% หรือวงเงิน 43,887.30 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้ ถือเป็นผลงานที่ท่านสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายก่อนที่จะลาออกพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมฯ ทั้งนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้ประมาณการผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (กันยายน 2564) กระทรวงคมนาคมจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 91% หรือวงเงิน 207,388.29 ล้านบาท ซึ่งจะมีกันงบประมาณไว้ใช้ในปี 2565 วงเงิน 26,350.32 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน

 

เปิดผลงานชิ้นโบว์แดง

 

 

 ส่วนโครงการเป็นที่ภาคภูมิใจอธิบดีระบุว่า ในช่วงที่ทำงานกรมทางหลวงชนบทนั้น มีหลายโครงการ เช่น โครงการสะพานภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม.-สมุทรปราการ ได้เป็นอย่างดี โดยสะพานมีลักษณะที่สูงตระหง่านที่ขึงด้วยสายเคเบิ้ลสีเหลืองทองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ช่วง บริเวณบางโพงพาง และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่มีชื่อว่าสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กรมทางหลวงชนบทสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรเขตอุตสาหกรรมในย่านนี้ ขณะเดียวกันสะพานนี้เชื่อมต่อถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนพระราม 3 และถนนกาญจนาภิเษก เข้าด้วยกัน โดยมีความยาวของวงแหวนนี้มีระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร สูงจากพื้นน้ำประมาณ 50 เมตร แบ่งเป็น 7 ช่องจราจร เสาทำด้วยคอนกรีต ตัวสะพานขึงด้วยสายเคเบิ้ลสองระนาบแบบสมมาตร และออกแบบยอดเสา มีแนวคิดมาจากยอดเจดีย์หรือยอดชฎา ทำให้เมื่อมองในมุมสูงจะคล้ายกับการพนมมือ

 

 

ขณะเดียวกันผลักดันโครงการก่อสร้างถนนสายบ้านศาลาด่าน-บ้านสังกาอู้ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระยะทางประมาณ 21.698 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงข่ายคมนาคมขนส่งด้านทิศตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณเกาะลันตา รองรับนักท่องเที่ยวและปริมาณการจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีจุดเริ่มต้นสายทางบริเวณสามแยกที่เชื่อมต่อกับสะพานสิริลันตา (กม.ที่ 0+000) และไปสิ้นสุดสายทางที่โรงเรียนบ้านสังกาอู้ (กม.ที่ 20+498) พร้อมทางเชื่อม (บริเวณ กม.ที่ 10+668) ปัจจุบันเปิดให้บริการแก่ประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ยังเดินหน้าสร้างโครงการสะพานนนทบุรี 1 มีระยะทางรวม 4.3 กิโลเมตร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตก (ตำบลบางกร่างและตำบลบางศรีเมือง) และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดนนทบุรี (ตำบลสวนใหญ่และตำบลตลาด ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางระหว่างสองฝั่งแม่น้ำสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยสะพานมีขนาด 6 ช่องจราจร และยังมีโครงข่ายตัดถนนใหม่ 6 ช่องจราจรเชื่อมกับถนนเดิมอีกด้วย 

 

 

ย้อนประวัติการทำงาน

 

 

นายปฐม มีประวัติการศึกษาปริญญาโท จบการศึกษา คณะรัฐประศาสนศาตร์มหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ขณะที่ปริญญาตรี จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้ผ่านประสบการณ์การทำงานอย่างชำนาญโดยเฉพาะด้านถนนและสะพานไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 4 และผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา ด้านการก่อสร้างสะพาน จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบทในที่สุด

 

 

ถึงแม้จะโดนโยกเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการ แต่ยังยืนยันในเกียรติของตนเองและตัดสินใจลาออกทันที นับถือความใจเด็ดของ "ปฐม เฉลยวาเรศ" อธิบดีผู้ที่ยอมหักแต่ไม่ยอมงอให้ใคร!!