ทช.เร่งก่อสร้างถนนสาย พท.4003 ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมทะเลสาบสงขลา

01 พ.ย. 2564 | 06:17 น.

กรมทางหลวงชนบท ตอบรับนโยบายเปิดประเทศ เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายถนนริมทะเลสาบสงขลา สนับสนุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมการขนส่งท่าเรือน้ำลึก เดินหน้าก่อสร้างถนนสาย พท.4003 จังหวัดพัทลุง กว่า 13 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จปี 2566

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาราชการแทนอธิบดี กรมทางหลวงชนบท(ทช.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ ทช. จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลเชื่อมระหว่างภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบนตั้งแต่จังหวัดสมุทรสงคราม - จังหวัดชุมพร (Thailand Rivera) เพื่อพัฒนาโครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้โครงข่ายดังกล่าวเกิดความต่อเนื่อง ทช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงถนนโครงการพัฒนาถนนริมทะเลสาบสงขลาในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นโครงข่ายสายรองเลียบทะเลสาบสงขลา ระยะทางรวมประมาณ 80 กิโลเมตร 

ทช.เร่งก่อสร้างถนนสาย พท.4003 ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมทะเลสาบสงขลา

ปัจจุบัน ทช. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4003 แยก ทล.4050 - บ้านจงเก อำเภอเมืองและเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ระยะทาง 13.800 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการ กม. ที่ 0+000 บริเวณ บ้านปากหวะ อำเภอเมือง ถึงจุดสิ้นสุดโครงการ กม.ที่ 13+800 บริเวณบ้านจงเก อำเภอเขาชัยสน โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 7 เมตร มีไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจรเพื่อความปลอดภัย คาดว่าจะดำเนินก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 164.750 ล้านบาท

ทช.เร่งก่อสร้างถนนสาย พท.4003 ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมทะเลสาบสงขลา

ในปี 2565 - 2567 ทช. ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างถนนริมทะเลสาบสงขลาอีกจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 

  1. โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4007 แยก ทล.4047 - บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 
  2. โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4004 แยก ทล.4081 - บ้านฝาละมี อำเภอเขาชัยสน บางแก้ว และปากพะยูน จังหวัดพัทลุง 
  3. โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4026 แยก ทล.4081 - บ้านชะแล้ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมสู่แหล่งท่องเที่ยวให้มีศักยภาพระดับภาคแล้ว และยังเป็นการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแถบลุ่มแม่น้ำโดยเฉพาะทะเลน้อย ตลอดจนเป็นการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดในด้านการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับโครงข่ายการขนส่งสู่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลได้ในอนาคตอีกด้วย