เปิดแผน รฟท.ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ “สถานีกลางบางซื่อ”

21 ต.ค. 2564 | 12:18 น.

รฟท.เล็งชงบอร์ดไฟเขียวแผนประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ 5 หมื่นตร.ม. ดึงแปลงA ปรับโฉมเป็นศูนย์อาหาร เชื่อมต่อการเดินทางผู้ใช้บริการ ดึงเอกชนร่วมทุนบริหารต้นปี 65

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า  สำหรับ ความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ นั้น เบื้องต้นรฟท.ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.ขออนุมัติออกประกาศเชิญชวนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี รวมกว่า 5 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) อีกครั้ง หลังจากที่การประชุมบอร์ด รฟท. ครั้งก่อนหน้านี้ได้มอบให้ รฟท. กลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกดูแลบริหารทรัพย์สินของ รฟท. ช่วยพิจารณาด้วย เพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด

 

 


สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ดำเนินการในท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาปรับใช้กับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งได้นำมาเป็นต้นแบบการทำธุรกิจในเชิงการจัดสรรผลประโยชน์เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของราคา และไม่ได้ให้เอกชนเข้าบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมด ยังมีพื้นที่ที่ รฟท. บริหารจัดการเอง เบื้องต้นเรื่องราคาอาหารที่จะจำหน่ายในสถานีกลางบางซื่อ ทางบอร์ด รฟท. ก็ต้องการให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถซื้อน้ำ หรืออาหารในราคาปกติได้ 
 

ขณะเดียวกันรฟท. มีแผนนำพื้นที่แปลง A บางส่วน ซึ่งอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ มาออกแบบให้เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ และทำเป็นศูนย์อาหาร (Food Court) จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มในราคาปกติไม่แพง โดยผู้มาใช้บริการจะสามารถเดินเชื่อมทั้ง 2 อาคารได้เหมือนเป็นอาคารเดียวกันเลย ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าสถานีกลางบางซื่อจะไม่มีสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มราคาถูกไว้คอยบริการผู้มาใช้บริการ โดยร้านค้าภายในสถานีกลางบางซื่อจะมีการจำหน่ายอาหารในระดับราคาที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความเดือดร้อน

 

 


“ยอมรับว่าหาก รฟท. ไม่เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ รฟท. ก็อาจไปไม่รอด ต้องขาดทุนเหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย เพื่อนำมาชดเชยในส่วนของค่าโดยสารที่ต้องควบคุมไม่ให้มีราคาสูงเกินไป จนกระทบกับประชาชนผู้มาใช้บริการ”

ทั้งนี้การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางชื่อ และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี แบ่งเป็น 4 สัญญา ได้แก่ 1.เชิญชวนยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์บริเวณอาคารสถานีกลางบางชื่อ 2. เชิญชวนยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางบางชื่อ โดยทั้ง 2 สัญญาเป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี 

 

 

 

3. เชิญชวนยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง 12 สถานี และ 4.เชิญชวนยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง 12 สถานี ซึ่ง 2 สัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี

 

 

อย่างไรก็ตามทั้งนี้คาดว่า รฟท. จะให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน ต.ค.นี้ และเอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ต้นปี 65 โดยระยะเร่งด่วนต้องเข้ามาบริหารพื้นที่บริเวณประตู 4 ที่จะพัฒนาเป็นร้านอาหารสำหรับให้บริการผู้โดยสาร ตามด้วยการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบชอปปิ้งมอลล์ ซึ่งเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ได้จัดเตรียมตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ(คีออส) มาให้บริการอาหาร และเครื่องดื่มแก่ประชาชนไว้แล้ว