1 พ.ย. “กรมอุตุนิยมวิทยา” ประกาศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ปี 2564

19 ต.ค. 2564 | 12:39 น.

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า วันที่ 1 พ.ย. จะเข้าเงื่อนไขที่ “กรมอุตุนิยมวิทยา” จะประกาศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ปี 2564 อย่างเป็นทางการ ลุ้น วันที่ 25-29 ต.ค. พายุลูกใหม่จะก่อตัวแถวฟิลิปปินส์ เส้นทางเดิมเข้าอีสานตอนล่าง เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  “ฤดูหนาว” กรมอุตุนิยมวิทยา จะมีเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาว ของประเทศไทย เช่นเดียวกับทุกปี สำหรับ “ปี 2564 ฤดูหนาว” ก็เช่นเดียวกันจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

 

1.อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป (อุณหภูมิต่ำสุด น้อยกว่า 23.0 องศาเซลเซียส) อย่างต่อเนื่อง

 

2.ลมระดับล่าง (ที่ความสูงประมาณ 100-3,500 ม. เมตร เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนระดับบน (ที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตร ขึ้นไป เป็นลมฝ่ายตะวันออก

 

3.ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวประจำปี 2564

 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า  ในสัปดาห์หน้ายังคงประกาศไม่ได้ เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อ แล้วยังฝนตกอยู่ปริมาณและการจายยังคงเป็นบริเวณกว้าง วันที่ 22 ตุลาคม 2564 มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ของภาคตะวันออก และภาคอีสานตอนบน วันที่  23 ตุลาคม 2564 ก็มีฝนตกหนาแน่นในภาคกลาง วันที่ 25-26ตุลาคม 2564 จะมีฝนตกใน กทม.

 

“ความจริงยังมี "พายุลูกใหม่" กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ คาดว่าน่าจะมีโอกาสพัฒนาตัวเป็นหย่อมความกดอากาศได้ ในช่วงประมาณวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่แถวบริเวณฟิลิปปินส์ หากพายุมาจริง ก็จะเจอความกดอากาศสูง จึงทำให้ความแรงของพายุน้อยลง หรือสลายตัวลงไป คาดว่าถ้าเข้ามาจริง ก็น่าจะเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2564 อาจจะมีหย่อมเข้ามาทางภาคตะวันออก และมีผลกระทบ"

 

จึงทำให้คาดการณ์ว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวน่าจะประมาณต้นพฤศจิกายน หรือ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สาเหตุที่ต้องเลื่อนประกาศ เพราะยังมีฝนอีกระลอกหนึ่ง ในวันที่ 25-29 ตุลาคมนี้ พายุลูกนี้เส้นทางมุ่งตรงมาที่ประเทศไทย คาดว่าจะผ่านอีสานล่าง ภาคตะวันออก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รุนแรงขนาดไหนต้องใกล้เวลาอีกครั้ง

 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ตอนนี้ภาคเหนืออากาศเย็นแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ปลายเดือนตุลาคม อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส แล้ว  แล้วถ้าจะหนาวเย็นสุด ต้องกลางเดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นเดือนธันวาคม มีบางวันต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส เรียกว่า "หนาวสุดขั้ว" จากนั้นก็ปรับอุณหภูมิสูงขึ้นมาหน่อย ก็ไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับ จังหวัด “ลำปาง” และ “ลำพูน”

 

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวได้พิจารณาสถิติย้อนหลัง 20 ปี กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว 20 ปีย้อนหลัง  หาก วันที่ 30 ตุลาคม มี 1 ครั้ง (ปี2559)  ส่วนวันที่ 31 ตุลาคม มี 3 ครั้ง (ปี 2546,2552,2553)  ส่วนวันที่ 1 พฤศจิกายน มี 3 ครั้ง (ปี 2543,2544,2545) และถ้าตรงจริงอย่างอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเป็น วันที่ 1 พฤจิกายน จะถือว่ารอบใน 18 ปี ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างเป็นทางการ ต้องจับตากันต่อไป

 

สถิติย้อนหลัง ประเทศไทยประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างเป็นทางการ